อยู่บ้าน-หยุดไป ตจว. ลดการแพร่ระบาดโควิด-19
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
การเลื่อนวันหยุดยาว ช่วงสงกรานต์ออกไป รวมถึงการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล วัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการให้คนในกรุงเทพฯ "หยุดอยู่บ้าน" และ "หยุดไป ต่างจังหวัด" เพื่อเป็นการทำให้เชื้อในกรุงเทพฯลดน้อยลงและ "หยุดแพร่เชื้อ" ไปต่างจังหวัด ซึ่งเริ่มมีสัญญาณพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 มี.ค. 2563 รวมสะสม 599 ราย พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรง และในช่วง 4 วันที่ผ่านมา มีการรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัด มากขึ้น โดยวันที่ 19 มี.ค. ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 213 ราย ต่างจังหวัด 59 ราย วันที่ 20 มี.ค. กรุงเทพฯ 247 ราย ต่างจังหวัด 75 ราย วันที่ 21 มี.ค. กรุงเทพฯ 284 ราย ต่างจังหวัด 127 ราย และวันที่ 22 มี.ค. กรุงทพฯ 363 ราย ต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 236 ราย ช่วง 4 วัน เพิ่มขึ้นถึง 177 ราย
ที่น่ากังวล คือ หากคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ที่มีเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรง ไม่หยุดตัวเอง อยู่บ้าน ยังออกไปมีกิจกรรมทางสังคม ก็จะยังคงมีการแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการเดินทางกลับไป ในต่างจังหวัด ยิ่งเป็นการกระจายเชื้อและเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุในบ้านที่ต่างจังหวัด จะได้รับเชื้อแล้วทำให้มีอาการรุนแรง
สิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยจะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเคร่งครัดในช่วงเวลานี้ จึงอยู่ที่การ "หยุดอยู่บ้าน หยุดไปต่างจังหวัด" จะช่วยให้ "หยุดแพร่เชื้อ" และชะลอผู้ป่วยโควิด-19 ให้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ให้สถานพยาบาลดูแลได้อย่างเพียงพอ
นายแพทย์ ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นสิ่งที่ ทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ละคนจะต้องอยู่ห่างกัน 1-2 เมตร เป็นการป้องกันการ แพร่เชื้อ ต้องถ่องไว้ว่า "อยู่ห่างไว้ ไม่แพร่เชื้อ เพื่อทุกคน" แต่มาตรการนี้จะไม่ได้ถ้าไม่ใช้ ร่วมกับมาตรการ "จำกัดการเดินทาง" ภายใต้ แนวคิด "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"
"ตอนนี้ต้องถือว่าสถานการณ์ในกรุงเทพฯไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯก็ควรจะต้อง "จำกัดการเดินทาง" ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯก็ไม่ควรออกไป ต่างจังหวัด ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ควร เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯถ้าไม่จำเป็นสุดๆ" นายแพทย์ชิโนรส กล่าว
สำหรับความจำเป็นที่คนในพื้นที่กรุงเทพฯต้องหยุดอยู่บ้านและไม่ไป ต่างจังหวัด นายแพทย์ชิโนรส บอกว่า แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1.ไม่ป่วย แต่หากยังเดินทางออกไปข้างนอกโดยไม่ได้จำเป็น ก็อาจจะไปพบคนป่วยที่อยู่ข้างๆ โอกาสติดเชื้อมีสูง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเอง 2.ป่วยแล้ว จะเป็นการนำเชื้อไวรัสโคโรนาออกไปแพร่สู่คนอื่น โดยเฉพาะ คนที่รัก เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่เป็นผู้สูงอายุ อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งเสี่ยงที่จะป่วยแล้วอาการรุนแรง จึงควรอยู่ในกรุงเทพฯ จะดีที่สุด และ 3.ป่วยหนัก โรงพยาบาลในต่างจังหวัด โดยเฉพาะสถานพยาบาลในระดับตำบล อำเภอไม่สามารถรองรับ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ซึ่งต้องการใช้เครื่อง ช่วยหายใจ ต้องอยู่ห้องไอซียู โดยโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลมากที่สุดคือ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ดังนั้น การออกไป ต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทย 2 เดือนแรก มีคนป่วยไม่ถึง 100 คน เสียชีวิต 1 คน ต่อมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ไม่มา พบแพทย์ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม และไป แพร่เชื้อ ตรงนี้สำคัญมากจึงต้องลดความเสี่ยง ในการที่จะแพร่เชื้อให้มากที่สุด ถ้าดูจาก ข้อมูลทางวิชาการมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ศึกษาในประเทศจีน พบว่าก่อนปิดเมืองมีคนที่สามารถแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวประมาณ 6 เท่า ถ้านำมาคูณกับจำนวนผู้ป่วยยืนยัน ก็จะพบว่ามีผู้ที่ติดและอาจแพร่เชื้อไม่รู้ตัวอีกมาก แต่เมื่อประเทศจีนมีมาตรการเข้มข้น ไม่ให้คนออกจากบ้าน ทำให้คนที่ไม่รู้ตัวว่าแพร่เชื้อเหลือเพียง 0.5 เท่า เมื่อคูณตัวเลขคนติดเชื้อยืนยันจะพบว่าตัวเลขคนที่อาจจะแพร่เชื้อไม่รู้ตัวลดลงถึง 12 เท่า
"นี่คือสิ่งสำคัญที่คนไทยต้องหยุด อดทนต่อความลำบากไปสักระยะ อย่าตามใจตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการทำร้ายประเทศชาติ และเศรษฐกิจอีกเป็นหมื่นๆ ล้าน เพียงเพราะตัวท่านไม่มีความวันนี้บุคลากรสาธารณสุขสู้เต็มที่ เหนื่อยก็ยอม จึงขอความ ร่วมมือประชาชนทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดด้วย" นายแพทย์อุดมกล่าว
ขณะที่ นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แนะนำการปฏิบัติตามหลัก "ระยะห่าง" ว่า ยึดหลัก 5 ข้อสำคัญ เพื่อลดการแพร่เชื้อ คือ 1.ทักทาย พูดคุย เว้นระยะ 1-2 เมตร 2.เลี่ยงกอดจูบ สัมผัสกัน 3.ลดออกจากบ้าน 4.ไม่สังสรรค์ ไม่จัด งานเลี้ยง และ 5.ประชุมโดยมีคนร่วมน้อยกว่า 50 คน และมีระบบคัดกรองป้องกันผู้เข้าร่วม ที่เข้มข้น
อย่างไรก็ตาม แม้แต่การอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ก็จะต้องมีระยะระหว่างกันด้วย โดยมีข้อควรทำ อาทิ ทำความสะอาดที่พัก แยกของใช้ส่วนตัว หมั่นดูแลความสะอาดของร่างกาย กินอาหารปรุงสุก ปิดปาก/จมูกด้วยทิชชูทุกครั้งเมื่อไอจาม ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก และเมื่อป่วย มีไข้ ไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัย และไปพบแพทย์
นอกจากนี้ กรมอนามัย แนะนำข้อปฏิบัติ ของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แยกเป็น การเตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น สังเกตอาการตัวเองหากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยคั่นเนื้อคั่นตัว มีน้ำมูกไม่ควรออกจากบ้าน เตรียมหน้ากาก 2 อัน แอลกอฮอล์เจล ใส่หน้ากากผ้าครอบปากจมูกกระชับใบหน้าตลอดการเดินทางหรืออยู่ในที่คนแออัด การเดินทาง เมื่อขึ้นยานพาหนะไม่เอามือสัมผัสใบหน้า อยู่ห่างผู้โดยสารอื่น 1-2 เมตร หลังลงจากยานพาหนะให้ใช้ แอลกอฮอล์เจลล้างมือ
การใช้ชีวิตในที่ทำงาน พยายามขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หากต้องใช้ลิฟต์ใส่หน้ากาก เลี่ยงการสัมผัส ออกจากลิฟต์ต้องล้างมือ การกินอาหารควรเหลื่อมเวลาพัก ล้างมือก่อนกินและหลังกินนั่งห่าง 1 เมตร ควรเป็น อาหารจานเดียว กินอาหารปรุงสุกร้อน หากเป็นไปได้ควรมีภาชนะส่วนตัวของ ตนเอง เลือกร้านที่สะอาด ส่วนในห้องทำงาน โต๊ะเครื่องใช้ส่วนตัวทำความสะอาดสม่ำเสมอก่อนและหลังใช้งานทุกวัน อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือจุดที่มีการสัมผัสใช้ร่วมทำความสะอาดบ่อยๆ หลังใช้อุปกรณ์เครื่องมือหรือจุดร่วม ให้ล้างมือทุกครั้ง นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เปิดระบายอากาศหน้าต่างประตูอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มี คนมาอยู่ร่วมกัน เช่น ประชุม สัมมนา หากจำเป็นอยู่ร่วมกันไม่เกิน 50 คนอยู่ห่าง 1 เมตรใส่หน้ากากทุกครั้ง
หลังเลิกงาน ไม่ควรไปในที่มีคนรวมตัว กันมาก รีบกลับบ้านทันที หากจำเป็นต้องไปสวมหน้ากาก ล้างมือ อยู่ให้ห่างผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เมื่อกลับบ้านล้างมือก่อนเข้าบ้าน หลังเข้าบ้านเปลี่ยนชุดชำระร่างกาย หากสมาชิกมีอาการต้องสงสัยให้ปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังตัวเองที่บ้าน
ทว่า ในช่วงเวลาที่คนจำนวนมากต้องหยุดงานเพื่อหยุดอยู่บ้าน อาจทำให้สูญเสียรายได้ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แนะนำถึงนายจ้างว่า เรื่องสุขภาพและปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงเวลาเช่นนี้ อยากจะให้นายจ้างช่วยเหลือกันและกัน ดูแลลูกจ้างให้สามารถที่จะดูแล ตัวเองได้ตามความเหมาะสม เพราะหากลูกจ้างแข็งแรง ไม่ป่วย สามารถลดการแพร่เชื้อในพื้นที่ได้โดยเร็ว ธุรกิจของนายจ้างก็สามารถกลับมาดำเนินการได้เร็ว แต่หากไม่ร่วมมือ ใดๆ ปล่อยให้การระบาดเกิดขึ้นนาน ความเสียหายของนายจ้างก็จะมากขึ้น
ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนจะมีส่วนร่วมสำคัญในการ "ชะลอโควิด-19" เพียงแค่ "หยุดอยู่บ้าน หยุดไปต่างจังหวัด" ก็จะหยุดแพร่เชื้อ เพื่อคนไทยทุกคน