อยู่บ้าน-หยุดเชื้อยุคโควิด อย่าลืมประคองสัมพันธภาพครอบครัว
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในหลายเรื่อง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงการที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากสำนักงานมาเป็นทำงานที่บ้าน ซึ่งการที่ต้องทำในระยะยาว อาจจำเป็นต้องเรียนรู้การปรับตัว เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
นับตั้งแต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบกับผู้คนแบบเป็นลูกโซ่ นอกจากความกังวลด้านสุขภาพ กลัวจะติดเชื้อ ป่วยและเสียชีวิตแล้ว ยังมีมรสุมเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรค ซึ่งการที่กิจการถูกทำให้เกิดปัญหาด้านการงานและเงิน นำไปสู่การเกิดสภาวะหวั่นวิตกทางจิตใจ เกิดความเครียด นอกจากนี้ "สัมพันธภาพในครอบครัว" ก็เป็นอีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม แม้กระทั่งครอบครัวที่ยังมีงานทำ เพียงแต่เปลี่ยนจากการทำงานในสำนักงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) แทน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานสัมมนา (ออนไลน์) เรื่อง "ใช้ชีวิตคู่อย่างไรให้เวิร์กในยุค Work from Home" โดยมีผู้เชี่ยวชาญคือ ปิยฉัตร เรืองวิเศษ ฟินนี่ นักจิตวิทยา นักครอบครัวบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาครอบครัว ผู้อำนวยการศูนย์ไทรศิลป์เป็นวิทยากร ซึ่งเริ่มจากการยกตัวอย่างผลการศึกษาในต่างประเทศ อาทิ Grim Findings on Partner Violence During the Pandemic ผลงานของ Bharti Khurana พบว่า สถิติการทำร้ายร่างกายของคู่รักก่อนสถานการณ์โควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 20 คนต่อนาที
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 (เก็บข้อมูลเดือนมี.ค.-พ.ค. 2564) พบสถิติเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า ซึ่งมีคำอธิบายว่า "การล็อกดาวน์ในต่างประเทศ บางคนอาศัยในส่วนของคอนโดมิเนียม ซึ่งพื้นที่ก็อาจไม่มากเท่าไร การอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นระยะเวลานาน ผลกระทบกระทั่ง หรือวิธีจัดการแก้ปัญหาความเครียดจึงเหมือนกับน้ำเต็มแก้ว"ขณะที่ประเทศไทย ผลสำรวจออนไลน์ที่ทำกันสดๆ ร้อนๆ ในงานบรรยายครั้งนี้ พบว่า ผลกระทบในการใช้ชีวิตคู่ในช่วงการต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ได้แก่
อันดับ 1 ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) หายไป ส่วนอันดับ 2 ต้องดูแลลูกหรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว อันดับ 3 ต้องทำงานหาเงินเข้าบ้าน และอันดับ 4 รับผิดชอบในหน้าที่การดูแลบ้าน เช่น "ในขณะที่พ่อแม่ต้องทำงานออนไลน์ ลูกเองก็ต้องเรียนออนไลน์ สามี-ภรรยาจะตกลงกันอย่างไรเรื่องการดูแลลูกกับการต้องทำงานหรือประชุม หรือการต้องแบ่งเวลาไปดูแลญาติผู้ใหญ่ ที่อาจจะอยู่บ้านเดียวกันหรือบ้านใกล้กัน" โดยในภาษาอังกฤษมี คำว่า Sandwich Generation หมายถึงช่วงวัยที่ต้องดูแลทั้งเด็กและผู้สูงอายุ
ปิยฉัตร ยกปัจจัยที่มีผลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์และอาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทของคู่รักในช่วงต้องทำงานที่บ้าน 1. บุคลิกภาพ หากเป็นพวกชอบแสดงออก อาจแสดงพฤติกรรมการสั่งหรือเรียกร้อง และเมื่อไม่ได้ดั่งใจก็หงุดหงิดและอาจระเบิดอารมณ์ออกมา แต่หากเป็นพวกไม่ชอบแสดงออก อาจมีพฤติกรรมคิดมาก น้อยอกน้อยใจ หรือตีความคำพูดของอีกฝ่ายผิดเพี้ยนไปจากเจตนาของผู้พูด
2. ความเครียดสะสม อาทิ จากมาตรการล็อกดาวน์จำกัดพื้นที่ทำให้ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างปกติ แต่ความเครียดสะสมอาจส่งผลต่อปฏิกิริยาที่มีต่อคนอื่นๆ ในบ้าน และหากได้รับการ ตอบสนองอย่างไม่เข้าใจ อาการทางจิตนั้นก็จะยิ่งแย่ลง หรือเครียดสะสมจากการวิตกกังวล กลัวเชื้อโรคฅเข้าบ้าน มีการบอกการเตือนไปจนถึงการตำหนิแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลับบ้านต้องฉีดแอลกอฮอล์ อาบน้ำล้างเนื้อล้างตัว ประเด็นเหล่านี้เคยเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติก็อาจกระทบกระทั่งได้หากไม่ระมัดระวัง
3. ขอบเขตความเป็นส่วนตัวหายไป จากเดิมที่คนออกไปทำงาน-ไปเรียนทั้งวันและมีเวลา ช่วงเย็นถึงค่ำในการใช้ชีวิตกับครอบครัว โควิดและล็อกดาวน์ทำให้ต้องใช้เวลาด้วยกันเกือบทั้งวันทั้งคืน อาจเพิ่มโอกาสกระทบกระทั่งกันได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะรักกันมากเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้ "การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญในการประคับประคอง" โดยสิ่งที่ควรมีคือการรับผิดชอบต่อคำพูดและพฤติกรรม การรับฟังอย่างเข้าใจ ยอมรับในความรู้สึกและให้กำลังใจ ส่วนสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการกล่าวโทษผู้อื่น ไม่ให้ความสำคัญกับคู่สนทนา โจมตีซึ่งกันและกัน
4. ความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะการนอกใจกันของคู่รัก แต่รวมถึงการรับปากว่าจะช่วยงานต่างๆ หรือทำนั่นทำนี่ด้วยว่าพูดแล้วทำจริงหรือไม่ 5.ความรู้สึกมั่นคงหรือหวั่นไหวหากเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น แม้เผชิญวิกฤติจะ ไม่แสดงอาการหวั่นไหว แต่จะเชื่อมั่นว่าสามารถฟันว่า มรสุมนั้นไปได้และขอให้ร่วมสู้ไปด้วยกัน แต่ใครจะมีความรู้สึกแบบใดก็มีที่มาจากการบ่มเพาะโดยสภาพแวดล้อมในวัยเยาว์ของแต่ละคนด้วย
และ 6. พึ่งตนเองหรือพึ่งผู้อื่นเป็นหลักเช่น การทำงานบ้าน จากเดิมที่มีการจ้างแม่บ้านหรือพนักงานทำความสะอาด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ โควิด-19 พนักงานดังกล่าวติดเชื้อ หรือมีสาเหตุอื่นๆ ทำให้ไม่ได้มาทำงานอีก หากครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนในบ้านสามารถทำงานบ้านเองได้และช่วยกัน ปัญหาตรงนี้ก็จะเบาลงเมื่อเทียบกับครอบครัว ที่สมาชิกต่างคนต่างเกี่ยงกัน แต่ละคนต่างรอคอย จะให้คนอื่นทำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปม ที่ฝังลึกมาแต่เดิม ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งด้วยตนเองและการหาผู้ให้คำปรึกษา
"จริงๆ ตรงนี้การที่เราย้อนกลับไปสำรวจและทำความเข้าใจกับ Disfunction Pattern (รูปแบบ ที่ผิดปกติ) รูปแบบเดิมๆ ที่อาจจะไม่ได้ดีกับชีวิตเราที่เราซึมซับมาจากครอบครัวดั้งเดิม ของเรา แต่บางทีพฤติกรรมเหล่านั้นเราอาจจะเห็นแวบๆ ในคู่ของเรา ซึ่งศัพท์ทางจิตวิทยาจะเรียกว่า Transparental Feeling (ความรู้สึกลางๆ) หรือการที่มีเค้าโครงของความรู้สึกเดิมๆ ที่มันถูก Trigger (กระตุ้น) ฉะนั้นบางทีความเป็นคู่ สมมุติว่าทางภรรยาเป็นคนที่ค่อนข้าง Sensitive (อ่อนไหว) อาจจะเติบโตมากับครอบครัวดั้งเดิมที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันเยอะ
แต่พอมาอยู่ในคู่เป็นสามี-ภรรยากันแล้วด้วยโควิดมันอาจจะทำให้การทะเลาะเบาะแว้ง ระหว่างสามี-ภรรยาคู่นี้มากขึ้น แล้วพอถึงจุดหนึ่ง สามีอาจจะระเบิดอารมณ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น แวบแรกที่ภรรยารู้สึก ณ ตอนนั้น เป็น Reaction (ปฏิกิริยา) เช่น เหมือนพ่อเหมือนแม่ฉันเลย แล้วถ้าสมมุติเราให้พฤติกรรมมันเป็นตัว React (ตอบโต้) กลับไป มันก็อาจจะเป็นแรงกับแรงได้ แต่ถ้าเรามองและเข้าใจตัวเอง เราก็อาจมีสติ ในช่วงนั้นถึงแม้ว่าเราจะหวั่นไหว แต่สิ่งที่เรากำลังหวั่นไหวเพราะเหมือนกับพ่อแม่เรา แต่คนคนนี้ไม่ใช่พ่อแม่เราในอดีต เราสามารถมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่แตกต่างไปได้ เรามี Choice (ทางเลือก) ให้เลือก เพราะเราไม่ใช่เด็กน้อยต่อไปในสถานการณ์นั้น" ปิยฉัตร กล่าว
นักวิชาการด้านจิตวิทยาครอบครัวผู้นี้ กล่าวต่อไปถึงคำถามอื่นๆ ในการบรรยาย เช่น "ระหว่างคู่ที่ต้องอยู่ห่างกันในยุคโควิด ประเด็นไหนสำคัญที่สุด" พบว่าอันดับ 1 ที่ผู้รับชมส่งคำตอบเข้ามาคือ "ความไว้วางใจ" และตามมาแบบไม่ห่างกันมากนักคือ "การติดต่อสื่อสารกันสม่ำเสมอ" หรือคำถาม "คุณมีสไตล์การสื่อสารอย่างไรเวลาไม่พอใจ" ซึ่งคำตอบ 2 อันดับแรก อันดับ 1 "เงียบแล้วรอดูว่าคู่ของตนจะสังเกตเห็นหรือไม่" ส่วนอันดับ 2 คือ "ขอคุยเพื่อจะบอกว่าพฤติกรรมใดทำให้รู้สึกไม่พอใจ และแชร์จากความรู้สึกของเราเอง" รองลงมาแต่ไม่ห่างกันมากเช่นกัน
โดยประเด็นของความเงียบนั้น หากมาจากวัฒนธรรมที่บ้านเดิมหรือประเทศเดิม การตีความความเงียบนั้นอาจไม่เหมือนกัน อาทิ คนที่มาจากสังคมตะวันตกจะมีความเชื่อว่าเมื่อเกิดปัญหาควรคุยกันให้จบเพื่อที่จะได้เข้านอนโดยไม่มีความขัดแย้ง แต่คนที่มาจากสังคมเอเชียหรือสังคมตะวันออกจะมีความเชื่อว่าการเงียบบางครั้งหมายถึงการไม่อยากวู่วามหรือไม่อยากให้อารมณ์ตอบโต้เพื่อให้ทุกอย่างเย็นลงแล้วค่อยกลับมาคุยกัน
"ถ้าคู่คนหนึ่งเป็นฝั่งตะวันตกส่วนอีกคนเป็นฝั่งตะวันออกก็จะเกิดการตีความหมายผิด ซึ่งอันนี้เจอบ่อยมากในการให้คำปรึกษาคนที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะฝั่งตะวันตกก็จะมองว่าเธอเย็นชา เธอ Ignore (เพิกเฉย) ทำเป็น ไม่ได้ยิน มันก็ยิ่งไปสุมไฟความโกรธมากขึ้น แทนที่จะเข้าใจเจตนากันได้นั้น เขาพยายามให้คุณเย็นลงก่อนนะ ให้เขาเย็นลงก่อน
แต่พอมันมีคนกลาง ในฐานะ Therapist (นักบำบัด) เป็นกรรมการห้ามมวย พอเราถามว่าเจตนาของการที่ยังไม่ตอบโต้คือเป็นด้านบวกหรือด้านลบ คือคุณพยายามที่จะไม่ปะทะกัน หรือจริงๆ คุณเป็น Conflict Avoider (ผู้เลี่ยงความขัดแย้ง) คุณเลี่ยงเพราะไม่อยากต่อ เราจะพบว่าจำนวนหนึ่งเขาเลือกที่ยังไม่ตอบโต้ตอนนั้นเพราะเขาไม่อยากให้ปะทะกันแรงๆ ก็คือเจตนาดี แต่ด้วยวัฒนธรรมบางทีทำให้เข้าใจกันผิดแล้วเป็น ประเด็นได้" ปิยฉัตร ระบุปิยฉัตร ฝากถึงแนวทางการสร้างสัมพันธภาพ ที่ดีกับชีวิตคู่หรือครอบครัว
1. หากสถานการณ์ตึงเครียด ให้บอกเจตนาให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยขอเวลาไปเรียบเรียงความรู้สึกก่อนแล้วค่อยกลับมาคุย ดีกว่าจะเดินหายไปตั้งแต่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ การบอกก่อนเป็นการทำให้เข้าใจว่าต้องการพื้นที่ ส่วนตัวเพื่อสงบสติอารมณ์ของตนเอง ไม่ใช่การปฏิเสธอารมณ์ที่กำลังพลุ่งพล่านของอีกฝ่าย 2. เมื่อพร้อมจะคุยภาษากายต้องเปิดกว้างเพื่อให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ว่าเราต้องการทำให้ปัญหานั้นจบจริงๆไม่ใช่บอกว่าจะคุยแต่แสดงท่าทาง เช่น นั่งกอดอกหน้าบึ้ง
3. เมื่อจะบอกความรู้สึกของตนเอง พยายามแสดงออกว่าภายใต้ความโกรธคือความเสียใจ เช่น บอกว่าที่โกรธเพราะอีกฝ่ายด่วนสรุป แล้วทำให้ตนเองรู้สึกว่าอีกฝ่ายเหมือนแม่ของตน แต่ในความโกรธนั้นก็รู้สึกเสียใจ 4.เป็นผู้ฟังที่ดี ข้อนี้ มีเทคนิคคือการทวนคำพูดผู้พูดซ้ำแบบกระชับ และ เพิ่มเติมการสะท้อนความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเข้าไป เอาใจเขาใส่ใจเรา ลองคิดในมุมของอีกฝ่ายดู และ 5.หาก อยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลง ควรใช้ถ้อยคำเพื่อสร้างความเข้าใจในเจตนา ไม่ใช่การสั่งหรือเรียกร้อง "เวลาที่เรามีคู่รักหรือคนรัก เราใช้เวลากัน เวลาดีๆ ก็มีเยอะ
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทะเลาะกัน เรานึกย้อนก่อนว่าตอนที่เวลาเราดีๆ กัน ภาษาไหน ไม่ว่าจะเป็นภาษากายหรือภาษาพูด พูดแล้วคู่รักของเราเขาอ้าแขนรับ ไม่ใช่เป็นการบ่น ไม่ใช่เป็นการสั่ง ไม่ใช่เป็นการเรียกร้อง ซึ่งจริงๆ เราก็รู้อยู่แล้วด้วยประสบการณ์ เพียงแต่ว่าบางที ในช่วงที่เรามีความตึงเครียด เรามีความขัดแย้ง มันหลุดออกไปจากสารบบของความคิด เพราะฉะนั้นพยายามเรียกตรงนั้นคืนมา แล้วใช้ภาษาที่เราคิดว่าเขาจะได้ยินจริงๆ" ปิยฉัตร ฝากข้อคิด