อภ.เปิดชมโรงงานผลิตวัคซีน"ไข้หวัดใหญ่"
ที่มา: เว็บไซต์ ryt9.com
แฟ้มภาพ
ที่โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ องค์กรเภสัช กรรม จ.สระบุรี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในปี 2550 ประกอบด้วยงานหลัก 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ดำเนินการคู่ขนานและสอดคล้องกันไป โดยได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานในระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน WHO GMP ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จนถึงวันนี้การดำเนินการก่อสร้างตัวโรงงานและการติดตั้งระบบสนับสนุนต่างๆ เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบคุณภาพ รวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือสำคัญในการผลิตติดตั้งเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปนี้ จะเป็นขั้นตอนของการสอบระบบต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งระบบห้องผลิตและระบบสนับสนุนการผลิต ระบบเครื่องจักรผลิตและกระบวนการผลิตให้ทำงานสอดประสานกัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน
นพ.นพพรกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนอยู่ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่คณะเภสัช ศาสตร์ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม โดย อภ.ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นสำเร็จ 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก เป็นเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์ ใช้พ่นทางจมูก ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย อยู่ระหว่างการทดลอง ถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร โดยทั้งส่วนของการก่อสร้าง การพัฒนาวัคซีน การขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และการพัฒนาบุคลากร คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 และปี 63 จะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อมาใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ
"จากที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ก็เจออุปสรรคและใช้เวลาในการก่อสร้างมาก และต้องหยุดชะงักไป 2 ปีในช่วงที่เกิดน้ำท่วมในปี 2554-2555 กว่าจะกลับมาก่อสร้างได้ใหม่ก็ต้องอาศัยหลายส่วน โดยเฉพาะเอกชนที่เป็นบริษัทผู้รับก่อสร้าง เพราะการที่ชะงักไปทำให้เขาขาดทุน เพราะอุปกรณ์แผนที่วางไว้ต้องชะงักหมด ต้องมีการไปพูดคุยจนกระทั่งเขายอมกลับมาทำ และเวลาที่เปลี่ยนไปก็ทำให้การผลิตสูงกว่าตอนที่ตกลงในทีแรก ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานในการดำเนินการก็มี รมว.สธ.หลายท่านที่หมุนเวียนมารับตำแหน่ง ถามว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ถูกถามเกิดผลแล้ว" ผอ.อภ.กล่าว
นพ.นพพรกล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว โรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเริ่มต้นปีละ 2 ล้านโดส และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึงปีละ 10 ล้านโดส ทั้งเชื้อตาย หากไม่มีการระบาดก็ผลิตใหม่ และสามารถผลิตเชื้อเป็นซึ่งผลิตๆ ได้เป็นจำนวนมากกว่าเชื้อตายที่เป็นเชื้ออ่อน เพื่อสำรองไว้หากมีการระบาดใหญ่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ของประชากรในประเทศ ถือเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม ก็เหมือนการซื้อถังดับเพลิง ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวนาให้เกิดไฟไหม้บ้าน การใช้วัคซีนก็เหมือนกันเป็นการป้องกันไว้ พร้อมกับภาวนาไม่ให้เกิดโรคระบาดขึ้น
นพ.นพพรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ WHO คาดหวังว่าจะมีประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตที่ดูแลประเทศใกล้เคียงได้ จึงได้มอบเงินมาสนับสนุนประมาณ 280 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การผลิตเพียงปีละ 2 ล้านโดส ก็อาจจะขาดทุน แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าโรคระบาดจะเกิดตอนไหน หากเกิดขึ้นวัคซีนที่มีในท้องตลาดมักจะถูกประเทศที่ร่ำรวยซื้อไปหมด พอถึงเวลาเราใช้ไม่ได้ ดังนั้นผลิตแล้ว 2 ล้านโดส รัฐซื้อแล้วเอาเข้าคลังไว้เลย เพื่อป้องกันการระบาด เพราะหากเกิดขึ้นจะเกิดความสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ ร่างกาย และสุขภาพ
ภก.จักรกฤษณ์ ประไพพิทยาคุณ รองผู้อำนวย การ อภ. กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มสร้างมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญซี 11 ในการรับผิดชอบดูแล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของ อภ.ทั้งหมด 5 คน จนตอนนี้เกษียณไป 2 เหลือ 3 คน รวมตนด้วย ซึ่งก็ติดขัดหลายเรื่อง อย่างเช่นที่มีการชะงักไป 2 ปี ทำให้เมื่อกลับมา อุปกรณ์ที่สั่งมาก่อนก็เสื่อมสภาพ การจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ต่างๆ ทำพร้อมกับการก่อสร้าง จึงต้องมีการปรับปรุงแบบไปด้วย และทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่ถอดใจไปแล้วว่า นี่คือโครงการของชาติ ให้ช่วยกัน จึงได้กลับมาทำใหม่ได้
พลตรีสุชาติ วงษ์มาก ประธานคณะทำงานของกรรมการ อภ. กล่าวว่า ในฐานะประฐานแก้ปัญหาวิกฤติ ตนมองว่าปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ไม่มีทางออก แต่ถ้าปกติแก้ยาก ต้องแก้ทีละเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องมาหาคนผิด ว่าการที่ชะงักไปนั้นใครผิด ไม่ใช่เป้าหมาย แต่สิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจคือ ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากมีโรคระบาดสามารถสิ้นชาติได้ เมื่อเข้าใจตรงกันก็สามารถเริ่มต้นเซตระบบได้.