อภัยภูเบศ ชวนคนไทยดับร้อน ด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


อภัยภูเบศ ชวนคนไทยดับร้อน ด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น  thaihealth


แฟ้มภาพ


อภัยภูเบศรแนะคนไทยดับร้อน ด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น ชู บัวบก รางจืด ฟ้าทะลายโจร ผักเบี้ยใหญ่ รักษาสมดุล กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนสงกรานต์ปีนี้ จะร้อนตับแตกถึงกว่า 40 องศา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะรับมือกับความร้อนด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น


นางสาวเบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะวิธีคลายร้อน โดยให้เรียนรู้ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย ว่า มนุษย์ประกอบด้วยธาตุดิน 20 ส่วน ธาตุน้ำ 12 ส่วน ธาตุลม 6 ส่วน และธาตุไฟ 4 ส่วน ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกายจะบ่งบอกลักษณะของแต่ละธาตุ เช่น ธาตุดินมีลักษณะที่มีน้ำหนักจับต้องได้ อันได้แก่ อวัยวะต่างๆ ธาตุน้ำมีลักษณะหนัก เย็น ชื้น ธาตุไฟมีลักษณะเบา ร้อน ชื้นพอดี เคลื่อนไหวได้ ธาตุลมมีลักษณะเบา ไม่มีน้ำหนัก ไร้รูป แห้ง เย็น ร่างกายคนเราจะมีกลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างธาตุทั้งสี่ ซึ่งเรียกว่า ตรีโทษ โดยมีธาตุดินรองรับ


วาตะคือ กลไกการทำงานของจิตและระบบประสาท เป็นการทำงานร่วมกันของลมและช่องว่างในร่างกาย มีลักษณะเบา แห้ง เย็น ไม่มีรูปร่าง ไม่นิ่ง ปิตตะคือ กลไกการย่อยอาหาร การเผาผลาญ การรักษาอุณหภูมิของร่างกาย การอักเสบ ความฉลาด เป็นการทำงานร่วมกันของธาตุไฟและธาตุน้ำ มีลักษณะร้อน ชื้น ไหลได้ และ เสมหะคือ กลไกการสร้างความเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เกาะเกี่ยว ยึดโยง เป็นการทำงานร่วมกันของธาตุน้ำและธาตุดิน มีลักษณะเย็น ชื้น มีน้ำหนัก ไหลได้


นางสาวเบญจวรรณ กล่าวว่า สภาวะโลกร้อนมองตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก็คือ ธาตุไฟกำเริบ เมื่อไฟกำเริบ ธาตุน้ำก็ลดลง ธาตุดินก็แห้งผาก ธาตุลมก็แปรปรวน ทำให้การเกิดโรคและอาการเจ็บป่วยหลายชนิดรุนแรงขึ้น เมื่อธาตุไฟกำเริบ ธาตุน้ำก็น้อยลง เสมหะที่คอยปกป้องเยื่อบุต่างๆ จะน้อยลง ทำให้ระบบทางเดินหายใจแห้งเกินไป เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เกิดการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ได้ง่าย ระบบทางเดินอาหารเกิดแผลได้ง่าย ทั้งแผลร้อนใน แผลในกระเพาะอาหาร เยื่อเมือกของระบบสืบพันธุ์ก็จะแห้ง เกิดสภาวะการมีบุตรยากมากขึ้น หากธาตุไฟมากไป ธาตุดินก็แห้งผาก ทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดน้ำ ผิวแห้งแตก เกิดฝ้ากระ ผิวเหี่ยวย่น ตาแห้ง ทำให้ตาเป็นต้อ จอประสาทตาเสื่อม เส้นผมและหนังศีรษะแห้ง เป็นรังแค รากผมไม่แข็งแรง ผมหลุดร่วงง่าย ธาตุดินนอกจากจะหมายถึงอวัยวะแล้ว อาหารที่รับประทานเข้าไปตลอดจนอุจจาระที่จะขับถ่ายออกมาก็ถูกจัดให้เป็นธาตุดินด้วย เมื่อน้ำเหือดแห้งไปเพราะไฟจะส่งผลให้อุจจาระแห้งแข็ง ถ่ายลำบาก เกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และโรคอื่นๆ


“ธาตุไฟที่มากเกินจะส่งผลให้ลมกำเริบ(ความแห้งของไฟไปเสริมความแห้งของลม) มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร เช่น หน้ามืดเป็นลม ความดันผิดปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ วิธีการดูแลสุขภาพในช่วงที่ปิตตะ หรือธาตุไฟกำเริบง่ายตามทฤษฎีของความเหมือนความต่าง คือ เมื่อปิตตะหรือไฟสูง(กำเริบ) ควรคุมไม่ให้เค้าสูงเกินด้วยการใช้สมุนไพที่มีรสเย็น ขมเย็น หรือสุขุม” หมอเบญจวรรณ กล่าว


สำหรับสมุนไพรที่เป็นตัวเลือกใช้ได้ดี และอยากแนะนำให้มาใช้ในช่วงหน้าร้อนนี้นั้น แพทย์แผนไทยประยุกต์อภัยภูเบศร บอกว่า ขอแนะนำ บัวบก เพราะเป็นสมุนไพรที่คู่อากาศร้อนมาช้านาน โดยมักถูกหยิบนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะความร้อน เนื่องจากบัวบกมีรสยาค่อนข้างเย็น ตำรายาไทยใช้เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ช้ำใน ประกอบกับข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันที่พบว่า บัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ การช้ำบวม ซึ่งเป็นอาการแสดงของภาวะความร้อนเกินในร่างกาย สามารถรับประทานเป็น น้ำคั้นใบบัวบกสด หรือ เป็นผักแกล้มในมื้ออาหาร รวมถึงรูปแบบแคปซูล ชาชงก็สามารถใช้ได้ อีกตัวที่อยากแนะนำคือ รางจืด ราชาแห่งยาแก้พิษ เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นอีกชนิดที่มีสรรพคุณมากมาย ทั้งลดอาการแพ้ การอักเสบ ใช้กินแก้ไข้ร้อนใน ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก เช่น ทำเป็นน้ำรางจืดฉีดพ่นลดความร้อนที่ผิวกาย ผิวหน้า ลดอาการแสบแดงและผิวไหม้จากแสงแดด และยังทำเป็นเครื่องดื่มดับร้อนได้อีกด้วย รวมถึงฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อบ่งใช้ คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้


มีรายงานผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า สารสกัดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส HIV1 ไข้หวัด ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความดันเลือด ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันความเป็นพิษของตับ ลดไข้และต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อมาลาเรีย ได้อย่างปลอดภัยตัวสุดท้าย คือ ผักเบี้ยใหญ่ ผักข้างทาง แต่มีสรรพคุณขึ้นห้าง มีฤทธิ์เย็น สมัยก่อนพื้นบ้านนิยมนำมาใช้เป็นยาเย็น แก้ไข้ร้อนใน ใช้กิน ใช้ภายนอก รักษาผื่นคันโรคผิวหนังอาการแสบแดงผิวภายนอกได้ และปัจจุบัน มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับภาวะโลกร้อนด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code