อปท.หนุนระบบสุขภาพชุมชน

สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

  

          ในอดีตสังคมไทยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ที่เรียกว่าการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรค การปรับสมดุลของร่างกาย โดยการใช้ยาสมุนไพร การนวดคลายเส้น โดยผ่านหมอพื้นบ้านที่กระจัดกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ

 

อปท.หนุนระบบสุขภาพชุมชน

         

          ที่ผ่านมาแผนงานพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนมูลนิธิสุขภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  จำนวน 9 แห่ง ได้ลงนามความร่วมมือ ในการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งในโอกาสครบรอบ 1 ปีของความร่วมมือดังกล่าว ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 1-5 กันยายนที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี  มูลนิธิสุขภาพไทย ได้จัดเวทีวิชาการ  “ก้าวย่างใหม่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการสนับสนุนระบบสุขภาพชุมชน” โดยภายในงานมีการนำเสนอผลการดำเนินการของชุมชนจำนวน 4 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในการส่งเสริมระบบสุขภาพ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี อบต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา อบต.วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม และเทศบาลตำบลนาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง

 

          ดุจดาว แก้วมี หัวหน้าศูนย์สุขภาพพื้นบ้านแม่สุก เล่าว่า ทางชุมชนเริ่มส่งเสริมเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2544 หลังไปดูงานที่ จ.ลำปาง และกลับมาพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดตนเอง โดยปีแรกรวมเงินในชุมชนประมาณ 4-5 หมื่นบาท และขอใช้พื้นที่ของสำนักอนามัย จึงได้เปิดทำการในปี 2546 จากนั้นก็มีการรวมกลุ่มกัน ในลักษณะของคณะกรรมการศูนย์สุขภาพพื้นบ้านแม่สุก จัดพื้นที่ในการรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนไทย เช่น มีการอบตา ย่างแคร่ รวมทั้งมีหมอนวด และหมออบสมุนไพร อย่างละ 1 คนไว้คอยบริการ ซึ่งการบริการของศูนย์จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การให้บริการที่ศูนย์ ที่บ้าน และเคลื่อนที่ไปในงานกิจกรรมต่าง ๆ

 

          “ในอนาคตทางศูนย์ฯ จะหาทางให้เด็กวัยรุ่นยอมรับภูมิปัญญาเหล่านี้มากขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชุมชน หรือโรงเรียนสอนนวัตกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ คาดว่าจะเปิดปลายปี 2553 นี้ เริ่มแรกจะมุ่งส่งเสริมการลดหวาน มัน เค็ม เพราะคนในชุมชนมีปัญหาเรื่องความอ้วน ก่อนที่จะส่งเสริมสุขภาพด้านอื่น ๆ ต่อไป” นางดุจดาว กล่าว

 

          ด้านเทศบาล ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดย นายกฤษฎา แสงแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลนาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง เล่าว่า ทางศูนย์ฯ ได้มีการรณรงค์ และกระตุ้นให้คนในชุมชนมาสนใจสุขภาพ โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบรรจุหลักสูตรท้องถิ่นภูมิปัญญาสุขภาพไว้ในโรงเรียนสังกัดเทศบาล

 

          “ยกตัวอย่างผงชูรสสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย สมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ผักหวาน ใบย่านาง ฯลฯ นำมาผสมด้วยสูตรเฉพาะ เพื่อทดแทนผงชูรสในท้องตลาด ซึ่งมีรสชาติที่ไม่ต่างกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และขอขึ้นทะเบียนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” นายกฤษฎา บอกเล่า

 

          ขณะที่ นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และกรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้มีการกระจายอำนาจการบริหารมายังท้องถิ่นผ่าน อปท.ทำให้การบริหารการจัดการง่ายและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากการบริหารลักษณะนี้เป็นการจัดการในระดับเล็ก การเชื่อมโยงข้อมูลจะเข้าถึงกันง่ายกว่าระดับใหญ่

 

          “การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ควรจะมีการสานต่อภูมิปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน และยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเฉพาะประเทศไทยให้คงอยู่ตลอดไป เหมือนดั่งมรดกโลก ซึ่งการจะเป็นมรดกโลกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่สำคัญ แต่อาหาร พืชผัก ก็สามารถประกาศเป็นมรดกโลกได้ ดังนั้น น้ำพริก สมุนไพรท้องถิ่น ก็ย่อมขึ้นเป็นมรดกโลกได้เช่นกัน อย่างในสหรัฐอเมริกา มีการพัฒนาภูมิปัญญาในการผลิตซอสมะเขือเทศจนมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยนำสายพันธุ์มะเขือเทศจากอเมริกาใต้มาขยายพันธุ์เอง จนได้มะเขือเทศผลใหญ่ และผลิตซอสมะเขือเทศจนมีมูลค่ามหาศาล ขณะที่ประเทศไทยมีพืชอยู่มากมาย ย่อมสามารถทำได้เช่นกัน” นางรสนา บอกเล่า

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

 

Update : 20-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code