อบรมครูวิทยาศาสตร์

สร้างโอกาสพัฒนาครู

อบรมครูวิทยาศาสตร์

 

          ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับสำนักงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้เครื่องมือไอซีที ในการบริหารจัดการความรู้ภายใต้โครงการความร่วมมือนำร่อง “โครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุภาพที่ดีกว่า” ระยะที่ 2 วันที่ 11-13 ตุลาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีครูนักเรียน 35 โรงเรียน 81 คน จากเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน เข้าอบรม

 

          “นายชายกร สินธุสัย” ผู้จัดการโครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า (ระยะที่ 2) กล่าวว่า เป็นหลักสูตรที่ 2 หลังอบรมครูแกนนำมาแล้ว 1 ปี เพื่อต่อยอดใช้เครื่องมือไอซีทีสร้างสังคมออนไลน์ เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความรู้ ช่องทางสื่อสารคนกลุ่มใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ใหม่ๆ แบบบูรณาการและสืบค้นข้อมูลอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมเพื่อเกิดประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์แท้จริง

 

          “ครูนักเรียนที่อบรมจะขยายผลไปสู่โรงเรียน ชุมชน ครอบครัว ซึ่งนักเรียนสามารถตั้งโจทย์ปัญหาสุขภาพ มีวิธีแก้ปัญหาตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่กิจกรรมโรงเรียน ผลงานนักเรียนในสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,000 คน

 

          “ปัญหาเด็กชนบทที่อยู่ห่างไกล อาจเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ไม่มีระบบรองรับ ซึ่งโรงเรียนที่ร่วมโครงการควรมีระบบหรือเครือข่ายรองรับ ถ้าไม่มีระบบสามารถสืบค้นเพิ่มจากตำราหนังสือ และสอบถามองค์ความรู้ในชุมชน อาทิ ปราชญ์ชาวบ้าน ครูบาอาจารย์หรือพระสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ”

 

          “ส่วนข้อเสียการสืบค้นอินเทอร์เน็ต เด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่ได้เพราะหาได้รวดเร็ว ทันใจ ว่องไว ได้เยอะ เลยไม่ศึกษารายละเอียด ทำให้รู้ไม่จริง ดังนั้น ควรเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้การสืบค้นอินเทอร์เน็ตบรรลุเป้าหมายและเกิดประโยชน์ในวงกว้าง”

 

          “นายอภินพ  ธนุสาร” ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนบ้านทาบุญโหล่งขอด ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปีที่แล้วเด็กทำโครงการวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ 3 สาขา ประกวดในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลที่ 2 จำนวน 2 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สะท้อนว่าเด็กมีทักษะความคิด ลงมือปฏิบัติและแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

 

          ด้าน “นางรัชนีกร วานิชสมบัติ” ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา จึงมุ่งดูแลสุขภาพคนในครอบครัวและชุมชน แต่มีข้อจำกัดเป็นโรงเรียนประจำ เด็กมักจะค้นคว้าสืบค้นข้อมูลเวลาเรียนเท่านั้น จึงจัดห้องไอซีทีนอกเวลาเรียน เพื่อให้เด็กเข้าถึงข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งปี ซึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพเด็กสามารถทำได้ 100% แต่การเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตเพื่อขยายผลสู่ครอบครัวทำได้ยาก เนื่องจากอยู่ห่างไกล ไม่มีระบบรองรับและลงทุนสูง

 

          “โรงเรียนเป็นเจ้าภาพจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ วันที่ 2-3 ธันวาคมนี้ มีโรงเรียนพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน เข้าร่วม 15-16 แห่ง แต่ละแห่งส่งโครงงานไม่เกิน 5 โครงงาน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็นและแสดงออกเชิงวิทยาศาสตร์ ในการแก้ปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน” นางรัชนีกรกล่าว

 

          “สามเณรอุดม แซ่ฝู่” จากโรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า จะเผยแพร่ขบวนการความคิดสู่รุ่นน้อง และวิธีสืบค้นข้อมูลอินเทอร์เน็ต พร้อมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ธรรมะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และดึงเยาวชนเข้าวัด

 

          ปฏิบัติธรรมมากขึ้น โดยรูปแบบเผยแพร่ต้องกระชับ ได้ใจความ เป็นที่สนใจของเยาวชน แต่แฝงด้วยคติ และแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 

          ส่วน “ด.ญ.ดวงพร แนวจำเนียน” นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านห้วยทราย ต.แม่สะเรียงอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า คิดทำโครงงานยาสีฟันสมุนไพร ด้วยศึกษาข้อมูลและสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต เพื่อรักษาสุขภาพฟัน เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้พืชประจำถิ่น อาทิ ใบข่อย ใบฝรั่ง มะขามป้อม มะเขือพวง เพื่อลดใช้ยาสีฟันผสมสารเคมีเพิ่มโอกาสสร้างงานและรายได้ชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ให้ความรู้เด็กรุ่นต่อไป

 

          แล้ววันหนึ่งประเทศจะมีเยาวชนคนเก่งที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์จากมันสมอง ซึ่งผ่านกระบวนการทางความคิดเชิงเหตุผล วิเคราะห์และค้นคว้า เพื่อแก้ปัญหาเชิงสุขภาพผ่านองค์ความรู้ที่ได้จากอบรมครั้งนี้

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  

 

 

update : 14-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code