อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

ปกป้องศิษย์ห่างไกลควันพิษนิโคติน

 

อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

 

            สดๆ ร้อนๆ กับการอบรมครูเพื่อรู้ทันการตลาดของบริษัทบุหรี่ โดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  แม้ว่าจะเป็นวันเสาร์ (13 พฤศจิกายน 2553) ณ หม่อมไฉไลรีสอร์ท จ.นครปฐม คุณครูกว่า 60 ชีวิต จาก 4 ภูมิภาคพร้อมใจกันมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรู้ให้ทันกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ เพื่อนำสิ่งนี้ไปปรับใช้ในการป้องกันลูกศิษย์จากอำนาจการตลาดของบริษัทบุหรี่  

 

ทำไมครูต้องรู้ทัน…?

 

อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ได้บอกเล่าให้คุณครูได้เข้าใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะเน้นย้ำว่า การปิดโรงงานยาสูบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาการเสพติดบุหรี่อย่างที่หลายคนคิด เพราะแม้ว่าจะไม่มีโรงงานยาสูบของรัฐบาลไทย แต่ปัจจุบันบุหรี่ที่เยาวชนนิยมสูบ ก็เป็นบุหรี่ต่างประเทศ โดยเฉพาะบุหรี่เถื่อน ที่มีขายเกลื่อนในย่านวัยรุ่น ผนวกกับข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทบุหรี่รายใหญ่ของโลก ต่างก็พุ่งเป้าหมายการตลาดมาที่เยาวชนอายุ 15-19 ปี และใช้เงินในการโฆษณาบุหรี่วันละ 16 ล้านดอลลาร์ หรือ 480 ล้านบาท เพื่อขายสิ่งเสพติดนิโคติน จึงอยากฝากคุณครูให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคีในการปกป้องเยาวชนจากธุรกิจที่ไร้จริยธรรมนี้ ด้วยการรู้เท่าทันการโฆษณาและการตลาดของบริษัทบุหรี่

 

แนะครู…ต้องรู้จักกลยุทธ์สื่อสารการตลาดบุหรี่

 

อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

อ.ดนัย หวังบุญชัย และ ดร.ไพรัตน์ อ้นอินทร์ 

 

            อ.ดนัย หวังบุญชัย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. ทำให้คุณครูทั้งหลายได้เข้าใจว่า สาเหตุสำคัญที่เยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลกเสพติดบุหรี่ เป็นเพราะบริษัทบุหรี่ใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร และเป็นการตลาดแบบเนียนๆ ให้ผู้บริโภคไม่รู้ตัว ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง โดยเฉพาะไวรัล มาร์เก็ตติ้ง (viral marketing) การตลาดที่ทำให้เกิดการบอกต่อ (words of mouth) ทำให้เกิดการระบาดของข่าวสารอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวทางที่จะพยายามปฏิบัติในสิ่งที่เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ไม่คำนึงถึงจริยธรรม โดยใช้การสื่อสารการตลาดที่เน้นการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มตัดสินอะไรด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสินค้าด้วยการเน้นที่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จึงอยากให้คุณครูผู้อยู่ใกล้ชิดเยาวชนได้รู้เท่าทันเรื่องของการสื่อสารการตลาด และนำสิ่งเหล่านี้ไปสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจว่าอะไรคือจริงหรืออะไรคือลวง

 

            ดร.ไพรัตน์ อ้นอินทร์ นักวิชาการสาธารณสุข จากสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 บอกกล่าวถึง กลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ที่เกิดขึ้นในบ้านเราและทั่วโลก เพื่อให้คุณครูได้เข้าใจรูปแบบที่หลากหลายของการตลาดบุหรี่ ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อบุคคลอย่างพริตตี้สาวสวย เพื่อให้สนใจในสินค้าบุหรี่  การจัดทำตู้บุหรี่เพื่อเลี่ยงกฎหมายด้วยการออกแบบให้ด้านหนึ่งใสอีกด้านหนึ่งทึบ เพื่อแอบโชว์บุหรี่ได้ ผลิตบุหรี่เถื่อนที่มีหลากรส ออกแบบซองหลากสีสัน เพื่อล่อลวงวัยรุ่นให้อยากลองและติดบุหรี่ หรือการผลิตเครื่องมวนบุหรี่ เพื่อให้สามารถทำบุหรี่มวนเอง จะทำให้บุหรี่มีราคาถูกลง เพื่อให้นโยบายขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ได้ผล การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดี เนื่องจากสถานะปัจจุบันเป็นรู้กันดีว่า บริษัทเหล่านี้อยู่ในฐานะผู้ค้าความตาย ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม  และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นเทคนิคที่ล้ำลึก  ซึ่งหากไม่บอกกล่าวกัน คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ คงจะรู้ไม่ทัน

 

เรียนรู้การจัดเรตติ้งภาพยนตร์

 

อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

 

            อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล  รับอาสาพาคุณครูเข้าสู่กิจกรรมการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ เพราะครูคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเยาวชน เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็กๆ หากคุณครูได้เข้าใจว่า การจัดเรตติ้งมีความสำคัญ และเป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการป้องกันเยาวชนจากสื่อภาพยนตร์ที่มีฉากต่างๆ ที่ส่งผลกับความคิดและพฤติกรรมของเยาวชนผู้รับสารนั้น ซึ่งบรรดาคุณครูก็ได้ร่วมกันให้เรตติ้งกับภาพยนตร์ที่นำมาจัดฉายเป็นตัวอย่าง เพื่อให้คุณครูได้เข้าใจว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ให้เสรีภาพกับคนทำค่อนข้างสูง ดังนั้น เป็นความยากลำบากที่จะให้มีการหยุดสร้างหนังที่มีฉากสูบบุหรี่โดยทันที และเสียงจากผู้ชม หรือคุณครูผู้ห่วงใยศิษย์ จะเป็นอีกกระบอกเสียงที่สะท้อนไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นความสำคัญของการจัดเรตติ้ง ที่เป็นตัวช่วยป้องกันเยาวชนจากการติดบุหรี่อีกทางหนึ่ง

 

โรงเรียนคือร่างกาย หัวใจคือคุณครู นำสู่เยาวชน (โรงเรียน) ปลอดบุหรี่

 

อบรมครูรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่

 

            ปิดท้ายการอบรม อ.พิศาล อุตสาหพงษ์ นักพูดและนักอบรมชื่อดัง จากบริษัท พิศาลโปรเฟสชั่นแนล เทรนนิ่ง จำกัด ได้นำคุณครูเข้าสู่ความรู้สึกของการเป็น หัวใจ ของโรงเรียน เพื่อปกป้องเยาวชนหรือลูกศิษย์ของคุณครูให้พ้นภัยจากบุหรี่ เพราะงานนี้เป็นงานหนักและเป็นงานหลัก ที่คุณครูทุกท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ และปลอดพ้นจากการยื่นมือสนับสนุนของบริษัทบุหรี่  รวมถึงการรวมพลังกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของการรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ให้กับลูกศิษย์ คือ การป้องกันเยาวชนให้ปลอดพ้นจากบุหรี่อย่างแท้จริง  ด้วยความรัก ด้วยหัวใจหวังดีของคุณครูทุกท่าน

 

เรียบเรียง : ชูรุณี พิชญกุลมงคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายศูนย์ข้อมูล

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

update : 23-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code