อบต.ในฝัน สร้างสุขภาวะ เสริมความสุขชุมชน

อบต.ในฝัน สร้างสุขภาวะ เสริมความสุขชุมชน 

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย การแก้ไขปัญหาปากท้อง รวมทั้งการแก้ปัญหาสัพเพเหระของประชาชนในพื้นที่มานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต

 

            เมื่อไม่นานมานี้ คณะผู้วิจัยของ “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ ค่อนข้างน่าสนใจ และอาจทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของ “ชุมชน-ท้องถิ่น”และการทำงานของ อบต.ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงสำคัญในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

 

            จากการลงสำรวจพื้นที่วิจัยและได้ทำงานร่วมกับ อบต. 4 แห่งในจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้ง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ใน อบต. ทุกคนล้วนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชาวบ้านสมัยนี้…อะไรๆ ก็ อบต.” ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรใหญ่น้อย ชาวบ้านสมัยนี้จะวิ่งเข้ามาขอให้ อบต.ช่วยเหลืออยู่เสมอ

 

            ถ้าจะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวตามกรอบของ “สำนักวัฒนธรรมชุมชน” ก็ได้ว่า “ชุมชน-ท้องถิ่น” เข้าไปใช้บริการ อบต.มากขึ้น มิใช่ว่าพวกเขาพึ่งตนเองไม่ได้ หากเป็นเพราะว่า “ทัศนคติ” ของชาวบ้าน ที่มีต่อกลไกการปกครองของรัฐได้เปลี่ยนไป กล่าวคือ จากเดิมที่รู้สึกยำเกรงสยบยอมหวาดหวั่น และต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ เมื่อเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ แต่ชาวบ้านสมัยนี้มีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้น ที่จะเข้าไปขอใช้บริการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพราะพวกเขาคิดว่าบริการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะมี ควรจะได้ และพวกเขามีสิทธิเต็มที่ในการที่จะเข้าถึงบริการเหล่านั้น

 

อบต.ในฝัน สร้างสุขภาวะ เสริมความสุขชุมชน

 

            ชาวบ้านสมัยนี้ ไม่ใช่ตาสีตาสา ไม่รู้เรื่องรู้ราว ที่ต้องทำอะไรผิดพลาดเสมอเมื่อไปติดต่อกับทางราชการ อย่างที่เรามักจะเห็นในรายการคดีเด็ดอีกต่อไปแล้ว

 

            การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับหน่วยราชการในลักษณะดังกล่าว ดูจะสอดคล้องกับคำอธิบายที่นักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ระบุว่า กระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทัศนคติของชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาได้เรียนรู้แล้วว่า “การเมือง” เป็นช่องทางที่จะนำมาซึ่งทรัพยากรต่างๆ และ “การโหวต” ก็สามารถปรับปรุงให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้

 

            ส่วน อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร และ อาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนคนในชนบทให้เป็น “ชนชั้นกลางใหม่” และเป็น “พลเมืองผู้ตื่นตัว” เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “ชุมชนท้องถิ่น” และชาวบ้านในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล

 

            เราสามารถตระเตรียมหรือปรับปรุงระบบกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างไร

 

            ผลจากการวิจัย “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชน” พบว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริหารจัดการของ อบต. กล่าวคือ ในกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับผู้คนในชุมชนนั้น ได้มีการผลักดันให้ อบต.แต่ละแห่ง ทำการสำรวจว่ามีองค์การทั้งภาครัฐและเอกชนใดบ้าง ที่ทำการเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาอยู่ในพื้นที่ และจะเน้นให้ อบต.ได้ทำการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะด้วยการทำงานประสานกับองค์การต่างๆ เหล่านั้น

 

            ทั้งนี้ ด้วยการหวังผลในระยะยาวก็คือ เพื่อจัดรูปร่างการทำงานขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งสร้าง อบต.ให้มีเครือข่ายกว้างขวาง เนื่องจากเราตระหนักดีว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองที่มันสลับซับซ้อนขึ้นทุกๆ วัน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ อบต.แต่ละแห่งจะสามารถตอบสนองความต้องการ หรือแก้ปัญหาทั้งหมดของชุมชนได้ด้วยตัวของ อบต.เองโดยลำพัง ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ กำลังคนหรืออะไรก็ตามแต่

 

            ดังนั้น ทางออกในการบริหารจัดการก็คือ การพัฒนาและสนับสนุนให้ อบต.เป็นเสมือนหน่วยประสานงานของชุมชน ที่มีเครือข่ายกว้างขวาง มีศักยภาพในการที่จะดึงทรัพยากรจากที่ต่างๆ ทั้งภายในภายนอก เข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่ง      แนวทางการพัฒนาดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ควรส่งเสริม และเป็นไปได้โดยไม่ยากนัก แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้างก็ตาม

 

เรื่องโดย นายณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

update : 29-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code