อบต.อีเซ บริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อบต.อีเซ บริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล thaihealth


ประเทศไทยผ่านการถกเถียงเรื่องแหล่งน้ำ และเกิดวิกฤตการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมาหลายครั้ง


อย่างกรณีแล้งหนักปี 2559 ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายตกเป็นจำเลยการใช้น้ำในปริมาณมากถึงขนาดทางการต้องมาประกาศและเสนอให้มีการลดจำนวนครั้งและลดเนื้อที่การทำนา รวมทั้งยกเลิกการเพาะปลูกพืชบางชนิด ซึ่งหลายพื้นที่ต้องออกมาเดินขบวนประท้วงให้รัฐเห็นว่านั่นไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง ทั้งนี้วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐและประชาชนสามารถหาทางออกที่เหมาะสมอยู่ร่วมกันได้


อย่างกรณีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสำรวจกิจกรรมของชุมชนท้องถิ่นที่สนับสนุน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้รับทราบและนานาชาติต่างเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้นนับเป็นการขับเคลื่อนสังคมในอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้มีบทบาทในการถ่ายทอดความแข็งแกร่งของการเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สู่สังคมภายนอกอย่างมีคุณภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลอีเซ (อบต.อีเซ) อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ มีการจัดทรัพยากรน้ำอย่างมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากหลายหน่วยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


สำหรับแหล่งน้ำที่ตำบลอีเซใช้เป็น ต้นทุน คือ ลำน้ำห้วยทับทัน ที่หล่อเลี้ยงคนจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอลำดวน อำเภอศรีณรงค์ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และ ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมืองจันท์ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอพูดศรีสุวรรณ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอราศีไศล ซึ่งทุกพื้นที่ใช้น้ำดังกล่าวทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร แต่ก็ตำบลอีเซเองยังประสบกับวิกฤตคือ พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรบางส่วนเป็นที่ดอนสูงจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนบางคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ ทางชุมชนจึงได้วางมาตรการใหม่ในการส่งน้ำไปใช้ และมีนโยบายร่วมเพื่อควบคุมการใช้น้ำอย่างเหมาะสม เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ไม่เน้นสูบน้ำใช้บ้านใครบ้านมัน และมีการแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการชุมชนก่อนการขอใช้น้ำเพื่อการเกษตรแต่ละครั้ง สร้างอ่างพักน้ำราว 60 อ่าง เพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ในฤดูแล้ง และสร้างท่อส่งน้ำต่อจากอ่างพักน้ำเพื่อส่งน้ำไปสู่ ครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งการจัดการตนเองดังกล่าวสร้างความปรองดองและประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ และทาง อบต.อีเซก็คาดหวังให้ สสส.ได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายท้องถิ่นทั่วประเทศให้เกิดการใช้น้ำอย่างสมดุล รวมทั้งเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูแหล่งน้ำไปในตัวด้วย


อบต.อีเซ บริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล thaihealth


สุวรรณ โสดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอีเซ อธิบายถึงโครงการจัดการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนว่า เรื่องนี้ต้องขอชื่นชมประชาชนในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือ และมีความเข้าใจกันและกัน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญกับมนุษย์ทั่วโลก สังคมไทยรู้ดีว่าหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ท่านทรงเป็นนักพัฒนาหลายด้าน และด้านที่ อบต.อีเซ น้อมนำมาใช้เพื่อสนองพระราชปณิธานก็คือ เรื่องที่พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากเป็นพิเศษ ดังที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า "หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น  ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้  ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้" (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529)


ทั้งนี้เมื่อได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชาของไทยแล้ว สุวรรณกลับไปมองในพื้นที่ว่ามีต้นทุนน้ำเป็นอะไรบ้าง จึงพบว่า ในตำบลมีห้วยน้ำทับทันที่ไหลผ่าน และมีประชาชนใช้น้ำตามฤดูกาล แต่เมื่อภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติหลายอย่างส่งผลให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตน้ำไม่พอใช้ ประชาชนก็ต่างหวาดกลัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่โชคดีที่ในส่วนของตำบลอีเซนั้น ในปี 2535 "หลวงพ่อสมาน อาภาโส" ได้ร่วมศรัทธาชาวบ้านทำฝายกั้นลำน้ำน้ำห้วยทับทันสำเร็จ โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ แต่ด้วยแรงศรัทธาของคนในชุมชนจึงสามารถกันน้ำที่ไหลผ่านไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงานได้ดำเนินงานโครงการอีสานเขียว และได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านพระ หมู่ที่สองขึ้นบริเวณฝายกั้นน้ำที่หลวง "พ่อสมาน"ร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้ โดยสถานีสูบน้ำยุคโครงการอีสานเขียวได้สร้างสถานีสูบน้ำบ้านพระหน้าฝายกั้นน้ำ ซึ่งสูบน้ำ ขึ้นคลองด่านและกระจายน้ำให้เกษตรกร ในพื้นที่ 1,500 ราย


อบต.อีเซ บริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล thaihealth


2 ปีหลังคลองส่งน้ำชำรุดใช้การไม่ได้กระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงานได้โอนภารกิจของสถานีสูบน้ำให้กรมชลประทาน ซึ่งได้โอนกิจการต่อให้กับองค์การบริหาร ส่วนตำบลอีซีในปี 2547


"ตอนนั้นผมก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายก อบต.ครั้งแรก ผมก็มาคิดว่า แหล่งน้ำนี่ก็เป็นทุนใหญ่แล้วนะ ในใจก็คิดถึงในหลวงตลอด เห็นท่านทำหลายอย่าง ผมก็เลยคิดไปว่า นี่ห้วยทับทันมีน้ำเป็นทุนอยู่ใกล้กับท้องถิ่นแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มันก็เหมือนกับหมาเห็นปลากระป๋อง แล้วแกะกินไม่ได้นั่นแหละ จึงจัดเวทีประชุมชาวบ้านแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่ และมีคณะศึกษาดูงานทุนทางธรรมชาติที่มีคือน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเช่น ป่า และคิดวางแผนว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดคุ้มค่าสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจึงได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงแพสูบน้ำคลองส่งน้ำให้สามารถใช้งานได้ และแพนั่นคือจุดเริ่มของการส่งน้ำในปัจจุบัน" นายสุวรรณเล่า


เมื่อแพส่งน้ำแห่งแรกแล้วเสร็จ พื้นที่ตำบลอีซีได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอีก 16 หน่วยงาน ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ปัจจัยกับการเพิ่มผลผลิต กรมชลประทานหนุนเสริมการรวมกลุ่ม จึงได้จัดตั้งกลุ่มและมีคณะกรรมการขึ้นบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง


หลังจากการพัฒนาคลองส่งน้ำสำเร็จ ทางตำบลหันมาพัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้กำหนดกติกาการใช้น้ำ และรักษาน้ำอบรมให้ประชาชนมีองค์ความรู้ใช้น้ำอย่างรอบคอบ พอประมาณ และพอเพียงกับการบริโภคและอุปโภคในการประกอบอาชีพและใช้ในครัวเรือน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การอนุรักษ์รักษาป่าต้นน้ำ การปลูกเสริม การไม่ใช้สารเคมีเพื่อลดมลภาวะทางน้ำ และเพิ่มความปลอดภัยของสัตว์น้ำอันเป็นอาหารของท้องถิ่น การสร้างวังมัจฉาเพื่อให้มีแหล่งขยายพันธุ์ปลาด้วยธรรมชาติ การประกาศเขตอภัยทานพื้นที่ความยาวตามลำน้ำประมาณ 900 เมตร ของชุมชนตำบลอีซีในเขตลำน้ำห้วยทับทัน กลุ่มเป้าหมายก็คือ ประชากรในตำบลอีซี เกษตรกรในตำบลพิเศษและสามารถใช้น้ำได้อย่างทั่วถึงในและนอก


จากนั้นได้ขยายการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่สี่ตำบลในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาน้ำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในตำบลมีน้ำใช้เพื่อการปลูกผู้บริโภคและเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สังคมได้พัฒนา ทั้งด้านสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสุขภาพ 2. ด้านสิ่งแวดล้อม  3. ด้านเศรษฐกิจ  4. การเมืองการปกครอง  และ 5. ด้านสังคม กล่าวได้ว่า อีเซ คือตัวอย่างสำคัญในการนำประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SDGs ที่สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญหลายข้อ นั่นคือดำเนินการอย่างเร่งรัดเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สร้างสุขภาวะในการดำรงชีวิตและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ฯลฯ

Shares:
QR Code :
QR Code