อบต.หัวไผ่…สร้างเครือข่ายชุมชนต้านภัยน้ำท่วม
ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีที่พังทลายลงนั้น ส่งผลให้น้ำบ่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในแถบจังหวัดสิงห์บุรีชัยนาท และลพบุรี เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเสียงสะท้อนจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบครั้งนี้คือ…รัฐควรบอกความจริงกับประชาชน
“วันนี้อยากให้หน่วยงานรัฐต้องพูดความจริงกัน ประตูระบายน้ำตรงไหนอายุนาน และต้องบอกว่าควรจะซ่อมยังไง และไม่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างบางโฉมศรี วัตถุประสงค์ คือ ระบายน้ำจากเชียงรากออกสู่เจ้าพระยา ไม่ใช่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เชียงราก ต้องเอาความจริงมานั่งดูกัน”
ทวีป จูมั่น นายกอบต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอบทันทีเมื่อถูกถามว่า อยากบอกอะไรกับรัฐบาล
เมื่อถามถึงการรับมือกับน้ำที่มามากและเร็วกว่าทุกปี ทวีป เล่าว่า ในท้องที่รู้ว่าน้ำน่าจะมาเดือนสิงหาคม วันที่ 15 จึงเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำดื่ม และข้าวสารพร้อมทั้งไปเฝ้าระวังประตูระบายน้ำบางโฉมศรีไม่ให้พัง และมีการประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือ รวมไปถึงช่วยเหลือพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่จะต้องเผชิญกับน้ำที่ไหลบ่าลงมาก่อน คือเขตอ.อินทร์บุรี อันประกอบไปด้วย ต.น้ำตาล เทศบาลอินทร์บุรี ต.ท่างาม ต.ชีน้ำร้าย และส่งข่าวต่อไปยังเครือข่ายในเขต จ.ลพบุรี เช่น ต.มหาสอน ต.บางขาม เพื่อรวมกำลังกันออกมาช่วยป้องกัน กรอกทรายลงกระสอบ ทำพนังกั้นน้ำ
“แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ หลังจากที่ได้รับข่าวจากเครือข่ายว่าตรงคอสะพานบางโฉมศรีมีปัญหา เราก็ไปดู ก็หวังจะจัดการแต่ไม่สามารถจัดการได้ พอมาวันที่ 12-13 ก.ย. คอสะพานบางโฉมศรีก็พัง จริงๆ แล้วตรงนั้นเป็นรูเล็กๆ แต่ทางชลประทานไม่ได้จัดการ ขนาดวันที่จะพังใหญ่ผมรู้เอาบ่ายสองโมงไปถึงประตูระบายน้ำไม่เกินบ่ายสามโมง ก็คุยกับทางชลประทานว่าใครจะจัดการได้ แบ๊กโฮ ของชลประทานที่มีอยู่ ขอใช้ได้ไหมเราขอให้เขาสั่งให้แบ๊กโฮ ช่วยดำเนินการ ขณะที่เราออกไปขนกระสอบทรายมาเตรียมไว้ ปรากฏว่าไม่มีคำสั่งจากทางชลประทาน ให้รถแบ๊กโฮดำเนินการ” ทวีปเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนที่ประตูระบายน้ำคลองบางโฉมศรีจะพังลงมา
เขากล่าวว่า แม้ว่าจะอุดน้ำไว้ที่คลองบางโฉมศรีได้ นั่นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบ หากแต่ยังมีประตูระบายน้ำอีกสองจุดเหนือขึ้นไป หากมีการจัดการรับมือที่ดี ก็จะช่วยไม่ให้น้ำทะลักลงสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
“การอุดน้ำที่ไปอุดอยู่ไม่ใช่ตรงที่จะชะลอน้ำได้ แต่มีสะพานยาวที่ตรงชัยนาทอีกที่ และบ้านน้ำตาลอีกที่หนึ่ง” นายกอบต.หัวไผ่กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่น้ำทะลักลงมาท่วมพื้นที่ตำบลหัวไผ่ ด้วยระดับน้ำที่สูงราวเมตรครึ่งถึงสองเมตร วิธีรับมือของอบต.หัวไผ่ ล้วนเกิดจากการเตรียมการไว้ก่อน และอาศัยเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 13 หมู่บ้าน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม และจะต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด
นายกอบต.หัวไผ่ ได้เตรียมการทำพนังกั้นน้ำไว้หนึ่งหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่กองอำนวยการ และอพยพประชาชนซึ่งขณะนี้รองรับผู้ได้รับผลกระทบไม่มีที่พักอาศัย 93 ครัวเรือนประมาณ 400 คน และการรักษาพื้นที่นี้ได้ ทำให้การจัดการของบริจาคเข้าไปสู่หมู่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึง และได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการจัดการสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้เข้าถึงทุกครัวเรือน
“การจัดการในหมู่บ้านมีห้าคน ให้ห้าคนกระจายว่าคนหนึ่งดูแลบ้านกี่หลัง อีกส่วนหนึ่งคือให้เบอร์โทรศัพท์ นายก อบต. ไปกับชาวบ้านให้หมด เพราะเราห่วงการจัดการที่ไม่ทั่วถึง ทำให้เราบริหารได้ง่ายขึ้น ชาวบ้านเขาจะกล้า แต่เราก็ไม่ได้จับผิดกัน เช่นสมมุติรู้ว่ามีคนไม่ได้ของ นายก อบต. ก็ต้องชวนผู้ใหญ่บ้านลงไปด้วยกัน”
ในส่วนของความช่วยเหลือจากเครือข่ายนั้น โกเมศร์ ทองบุญชู จากเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการภัยพิบัติและพัฒนาระบบอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติมายาวนานหลายปี ได้ขึ้นมาให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. พร้อมด้วยอาสาสมัคร 15 คน เขาได้แบ่งภารกิจเป็นสามส่วนคือ 1.สนับสนุนการขนส่ง เช่น รับส่งผู้ป่วย คนที่ออกไปธุระ 2.ขนส่งถุงยังชีพและ 3.คือการทำพนังกั้นน้ำให้กับศูนย์บัญชาการ
“สิ่งที่เราทำเป็นโมเดลที่น่าเรียนรู้คือการรักษาฐานที่มั่น โดย 13 หมู่บ้านท่วมหมด เหลือหนึ่งหมู่บ้านยกพนังกั้นขึ้นมา แต่ถ้าเจอน้ำเยอะก็จะรับไม่ไหวต้องรักษาให้ได้ ก็เอาเรือไปลากผักตบชวามาปะพนังกั้นน้ำลดแรงกระแทกคลื่น”
โกเมศร์กล่าวและว่า เพื่อป้องกันพนังกั้นน้ำให้กับศูนย์บัญชาการภัยพิบัติของ ต.หัวไผ่ เขาสำรวจพบว่าตลอดความยาวของพนังกั้นน้ำ ที่สร้างขึ้นจากดินปนทรายเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรนั้น ต้องเผชิญกับน้ำที่ไหลบ่ามาแรงจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพนังกั้นน้ำได้หลายจุด จึงเริ่มมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่พอจะช่วยบรรเทาความแรงของคลื่นที่จะเข้ามากัดเซาะพนังกั้นน้ำ และผักตบชวา ก็คือทางออกด้วยเหตุผลว่า เป็นสิ่งเดียวที่หาได้ง่าย
“พวกที่เขาเดินสำรวจ ก็นอนไม่หลับเพราะคลื่นแรงมากตื่นเช้าขึ้นมาก็เดินสำรวจกันทุกวัน เส้นทางสองกิโลเศษ เราดูว่าช่วงไหนที่ลมเข้า คลื่นเข้า”
โกเมศร์บอกว่า แรงงานที่ออกมาช่วยกันทำพนังกั้นน้ำนั้นเป็นแรงงานอาสาทั้งสิ้น โดยแกนนำชุมชนและชาวบ้านราวๆ 20-30 คน จะเข้ามาเป็นกำลังเสริมทุกๆ วัน เพื่อออกไปลากผักตบชวามาโปะพนังกั้นน้ำ และต้องคอยเสริมพนังกั้นน้ำไว้ตลอด เพราะคลื่นเปลี่ยนทิศทางตลอดเวลา
เครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติผู้นี้ให้ความเห็นว่า แม้ว่าสภาพที่เขาพบเมื่อเดินทางมาถึง คือน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน แต่ไม่มีเหตุฉุกเฉินให้ต้องรับมือ การจัดการภัยพิบัติที่ ต.หัวไผ่ มีการเตรียมการรับมือที่ดี ซึ่งถือว่านี่เป็นโมเดลการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นในภาวะภัยพิบัติที่น่าเรียนรู้
“ไม่มีเหตุฉุกเฉิน ต้องชื่นชมเพราะผู้บริหารที่นี่เข้าใจผมเห็นพลังความเข้มแข็งของชุมชน คนที่นี่มีความอดทนสูงมากผมเห็นงานช่วยเหลือภัยพิบัติหลายพื้นที่ แต่ระบบการจัดการอย่างถุงยังชีพที่นี่จัดการได้ดีมาก ไม่มีเกะกะเพ่นพ่าน ทั่วถึงไม่ต้องโวยวาย สิ่งสำคัญที่สุดคนที่นี่มีน้ำใจ” โกเมศร์กล่าวทิ้งท้าย
นับถึงบรรทัดนี้ได้แต่ภาวนาให้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายในเร็ววัน…
“นายกอบต.หัวไผ่ ได้เตรียมการทำพนังกั้นน้ำไว้หนึ่งหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่กองอำนวยการและอพยพประชาชน ซึ่งขณะนี้รองรับผู้ได้รับผลกระทบไม่มีที่พักอาศัย 93 ครัวเรือน ประมาณ 400 คน และการรักษาพื้นที่นี้ได้ ทำให้การจัดการของบริจาคเข้าไปสู่หมู่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึง และได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการจัดการสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้เข้าถึงทุกครัวเรือน”
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า