อบต.พิชัย จ.ลำปาง ทุ่มเทกายใจหวังพัฒนาคน

ยึดหลักการคิด พึ่งตนเอง และการมีส่วนร่วม

อบต.พิชัย จ.ลำปาง ทุ่มเทกายใจหวังพัฒนาคน 

         หน่วยงานเล็กๆ อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลย่านชานเมือง ที่มีงบประมาณในแต่ละปี เพียงเล็กน้อย แต่อบต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ไม่เคยลังเลที่จะใช้เงินซึ่งมีอยู่น้อยนิดนี้ไปกับการ พัฒนาคน

 

          ถ้าเราลืมสร้างถนน สร้างสะพานปีนี้ ปีหน้าเรายังทำได้ มันยังไม่เสียหายมากมาย แต่ถ้าเราลืมสร้างคนปีนี้ ปีหน้า เราอาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ ฉะนั้นการสร้างคนจึงเป็นเรื่องแรกที่เราคิดถึงมาตลอด

 

         ช่างเป็นถ้อยคำที่ฟังแล้ว สะท้อนให้เราเห็นถึง ความทุ่มเท ในการสร้างคนของ อบต.แห่งนี้ ที่หลุดมาจากปากของคุณศิริพร ปัญญาเสน วัย 45 ปี นายก อบต.พิชัย 3 สมัยซ้อน

 

         แต่เพราะอะไร นายกหญิงแกร่งคนนี้ จึงทุ่มเทให้กับการสร้างคน นั่นเป็นเรื่องที่ต้องมองย้อนกลับไปถึงอดีตความเป็นมาของเธอด้วย

 

         “หญิงแกร่ง คำคำนี้คงไม่ผิดนัก หากจะใช้กับเธอ ศิริพร ทำงานเพื่อสังคม มาแต่วัยเยาว์ เมื่อเป็นเด็กเธอต้องช่วยครอบครัวทำงานส่งพี่ ๆ ให้ได้เรียนหนังสือหลังจากบิดาล้มป่วย การทำงานชนิดหนักเอาเบาสู้ ทำให้เธอเป็นที่รู้จักและไว้วางใจของคนในชุมชน

 

         จนไม่น่าเชื่อ ที่เด็กอายุ 18 ปีอย่างเธอ จะได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างรวดเร็ว ทั้งที่อายุยังน้อย ซึ่งในช่วงนั้นเธอกำลังทำงานต่อสู้กับขบวนการตกเขียว หรือการขายลูกสาวให้ไปทำงานบริการทางเพศที่กำลังระบาดหนักอยู่ในลำปางอยู่ในขณะนั้น  หลังจากนั้นหน้าที่การงานของเธอเจริญก้าวหน้าจนได้ขยับเป็นสารวัตรกำนัน ก่อนจะลาออกเมื่อปี 2537 เพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

 

         และสิ่งสุดท้ายที่ทำให้เธอภาคภูมิใจ คือการลงสมัครเลือกตั้งจนได้เป็นนายก อบต.พิชัย คนแรกในปี 2539 ซึ่งเธอก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

         ถึงแม้เธอจะทำงานเกี่ยวกับคนอย่างหนักมาแต่เด็ก แต่ในระยะแรกเธอก็ยังมองไม่เห็น ความจริงแท้ ของการพัฒนา

 

         “ช่วงแรก ๆ ที่ทำงานสังคม ก็สนใจแต่เรื่องการก่อสร้างถนนหนทาง ยังไม่ได้มองในมิติอื่น ๆ คิดเพียงว่า ถ้าในหมู่บ้านมีงาน ทุกคนมาช่วยเหลือกันมันก็จบ แต่ช่วงหลังรู้สึกว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องคิดที่จะทำให้คนที่อยู่ในสังคมปลอดภัยด้วย เพราะถ้าทุ่มเทงบไปที่วัตถุหมด แต่คนในชุมชนยังถูกทำร้าย มีปัญหาอาชีพ การศึกษาไม่มีคุณภาพ บริการสุขอนามัยไม่มี แบบนี้งานไม่บรรลุผลแน่

 

         นั้นคือตัวจุดประกายความคิดที่ทำให้ ศิริพรหันมาทำโครงการที่ล้วนนำพาชาวพิชัยให้เป็นคนมีคุณภาพมาโดยตลอด โดยเน้นหนักไปทางการรณรงค์งดบุหรี่และเหล้า ซึ่งโครงการแรกที่ทำคือ โครงการเยาวชนพิชัยปลอดภัยจากควันบุหรี่  มุ่งรณรงค์สร้างค่านิยมใหม่ให้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านงานศิลปะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกีฬาครอบครัวสัมพันธ์ ให้คนทุกวัยในบ้านมาออกกำลังร่วมกัน ทั้งยังมีกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างค่านิยมใหม่ในเรื่องการลด ละ เลิกดื่มสุราแล้ว

 

         “เหตุจากความรู้สึกผิด ที่ผ่านมาเราห้ามเด็กไม่ห้ามผู้ใหญ่ แต่รู้สึกว่าถ้าเอาแต่ห้ามเด็กว่า เหล้าบุหรี่ไม่ดี แต่ผู้ใหญ่ยังสูบยังดื่ม แถมบางทีเราก็เผลอสนับสนุน เช่น พอเขาตะโกนบอก นายกฯ ขอเหล้าหน่อย เราก็เอ๊า เอาไปเลย รู้สึกว่าตอนนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าจะรณรงค์ต้องทำให้ครอบทุกมิติ แล้วพอทำเรื่องบุหรี่กับเด็ก ให้เด็ก ๆ ไปสำรวจพื้นที่พบว่า ในชุมชนมีแต่คนดื่มเหล้า ทั้งแต่งงาน งานศพ งานประเพณี ก็ทำให้ได้คิดว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ต้องทำเพื่อให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น และยังช่วยลดรายจ่ายได้หลายทางทั้งค่าเหล้า ค่าดูแลสุขภาพ และอาชีพ เพราะเมื่อเลิกเหล้าสุขภาพแข็งแรงก็ทำงานได้ ไม่ต้องหยุดงานทำให้มีเงินใช้ จึงประกาศเลยว่า ต่อไปนี้ อบต.จะทำกิจกรรมภาคสังคม โดยไม่สนับสนุนเรื่องเหล้าและบุหรี่ และห้ามดื่มเหล้าในทุกกิจกรรมของเราด้วย

 

            ด้วยอุดมการณ์และการตั้งใจทำงานจริงจัง ทำให้ชาวบ้านพิชัยต่างตื่นตัวในการลดละเลิกการดื่มสุราในงานประเพณี เกิดงานกีฬาพิชัยคัพ ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาด้านยาเสพติดที่ไม่มีการดื่มเหล้าในงานโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีชาวบ้านเข้ามาเป็นอาสาสมัครเลิกดื่มสุรา จนกลายเป็นต้นแบบและเป็นแกนนำรณรงค์ให้กับชาวบ้านในกลุ่มอายุของตน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุของ อบต.พิชัย ที่มีถึงร้อยละ 80 ที่ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่

 

          คำว่า การสร้างคนที่นายกฯ หญิงแกร่งคนนี้พูดถึง หลักการก็คือกระบวนการคิด การพึ่งตนเอง และการมีส่วนร่วมนั้นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th

 

 

update 28-08-51 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code