อนุรักษ์ “พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน” ด้วยวิถีเกษตรย้อนยุค

สร้างหลักประกันความมั่นทางอาหาร

 

อนุรักษ์ “พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน” ด้วยวิถีเกษตรย้อนยุค

         การทำนาในปัจจุบันที่มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ทั่วประ เทศ โดยไม่ได้คำนึกถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศหรือสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวนาต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก

 

         ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ได้สร้างรายจ่ายในด้านต่างๆ ตามมาอย่างมหาศาล สภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีตค่อยๆ ถูกทำลาย ความหลายหลายทางชีวภาพและอาหารก็สูญหายไป ซ้ำร้ายยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง

 

         เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินงาน “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนใน จ.อุบลราชธานี ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเอง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)การส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง

 

        นางสาวชลิตา ศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของโครงการ เล่าว่า  พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็น “มูลมัง” หรือมรดกของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดกันมา ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป ชาวนาไม่สามารถที่จะสืบต่อวิธีการรักษาเมล็ดพันธุ์ ของชุมชนดั้งเดิมที่มีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าว ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้เครื่องนวดข้าว ก็ทำให้คุณภาพของข้าว ที่จะเป็นต้นพันธุ์ลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย”ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซื้อพันธุ์ข้าว 2-3 ปีต่อหนึ่งครั้งทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยการผลิต ซึ่งแต่เดิมชาวนา จะมีข้าวกินแต่ละครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ ก็จะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยวิถีของการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นการปลูกและกินข้าวพันธุ์เดียว ต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพตอนนี้มีชาวนาป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งก็มาจากการกินข้าวเพียงพันธุ์เดียว ประกอบกับพืชอาหารท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลง การซื้อหาจากข้างนอก ก็ไม่ปลอดภัยเพราะเต็มไปด้วยสารเคมี และยังเป็นการเพิ่มค่าครองชีพ แต่ถ้าชาวนา สามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์เอง คัดเลือกเอง ปลูกและกินข้าวของตัวเอง ก็จะทำให้ชาวนา สามารถพึ่งพาตนเอง ในวิถีการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้” นางสาวชลิตาระบุ

 

          นายไพบูลย์ ภาระวงศ์ หรือ “พ่อบูลย์” อายุ 54 ปี เกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์  ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด การทำนาไปเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เล่าว่า เมื่อก่อนก็ปลูกข้าว ที่ท้องตลาดนิยมเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป แต่เริ่มมาสนใจการทำนารูปแบบใหม่ เมื่อปุ๋ยและยามีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และเห็นเพื่อนชาวนา เริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุมาจากกินข้าวพันธุ์เดียวนานนับปี  เพราะในข้าวไม่เหลือสารอาหารที่เป็นประโยชน์ถูกขัดสีไปจนหมด

 

          “ปัจจุบันผมปลูกข้าวพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี และที่อื่นๆรวม 10 สายพันธุ์ได้แก่ มะลิ, มะลิดำ, หอมเสงี่ยม, สันป่าตอง, หอมพม่า, ข้าวเหนียวแดง, แสนสบาย, ยืนกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวอุบล และนางนวล ซึ่งข้าวพื้นบ้านจะให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์ กข. ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยา เพราะทนทานต่อโรค และขยายพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเอง ไม่ต้องซื้อและมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัตถุดิบต่างๆ ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ” พ่อบูลย์ กล่าว

 

          สอดคล้องกับ นายสี ทอนไสระ หรือ “พ่อสี” อายุ 58 ปี แกนนำเกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน เสริมว่า ทุกวันนี้หันกลับมาทำการเกษตรย้อนยุค เหมือนอย่างที่ปู่ย่าตายาได้ทำมาในอดีต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ผลผลิตก็มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในที่นา 6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านถึง 20  สายพันธุ์ ซึ่งพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นบ้านหลายๆ สายพันธุ์มีเมล็ดข้าวขนาดใหญ่กว่า น้ำหนักก็มาก กว่าเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง และที่เหลือจะใช้เพื่อคัดเลือกและขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

 

          “ข้าวนาปีก็จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ เก็บเอาไว้กินเอง ส่วนนาปรังก็จะปลูกข้าวพันธุ์อายุสั้นเพื่อขาย ซึ่งข้าวที่ได้จะนำมารวมกัน ก่อนนำไปสีหรือเพื่อให้เกิดการคละสายพันธุ์ข้าวและคงคุณค่าทางอาหารของข้าวไว้ให้ได้มากสุด ทำให้สุขภาพของเราเองดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลดลงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่กินข้าวที่มีแต่แป้ง แต่ไม่ได้กินวิตามินหรือสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ของข้าว ข้าวพันธุ์พื้นบ้านอย่างหอมมะลิแดง ข้าวหอมสามกอ ข้าวมันเป็ด หรือข้าวเหนียวอุบล มีน้ำตาลต่ำ วิตามินสูง ช่วยป้องกันโรคเบาหวานและรักษาโรคความดันได้” พ่อสีเล่าถึงข้อดีของข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูก

 

         ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. เปิดเผยว่าในปัจจุบันมีการส่งเสริม การปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ทำให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิต เช่นปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีต้นทุนสูง ซึ่งการที่จะลดหรือเลิกใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ลงได้ ก็คือการหาพันธุ์ข้าว ที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่ผ่านการพัฒนาและรักษาสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จะนำไปสู่การลดการพึ่งพาจากภายนอกและได้ผลผลิตที่ดีที่ผ่านมา สสส. ส่งเสริมให้ชาวบ้าน เลือกพันธุ์ข้าวที่จะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง นั่นหมายถึงเป็นการปลูกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของชาวบ้านเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในของเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารคือ การทำเกษตรกรรมต้องตอบสนองต่อเกษตรกร ที่เป็นผู้ปลูกเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจึงจะนำไปขายในตลาดหรือในชุมชน

 

          “ข้าวพันธุ์พื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ จะมีคุณค่าของสารอาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าข้าวทั่วไปที่มีการส่งเสริมกันในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่นข้าวหอมมะลิแดง หรือข้าวก่ำ จะมีเปอร์เซ็นต์ของสารต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินเอในอัตราส่วนที่มาก บางสายพันธุ์มีวิตามินอีสูง มากกว่าถึง 26 เท่าของข้าวทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก”นายวิฑูรย์ กล่าวปิด ท้าย

 

          เป็นกิจกรรมเล็กๆในสังคมที่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่  เพราะ”พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน” มรดกแห่งภูมิปัญญาบรรพชน คือหลักประกัน “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” ของคนไทยทุกคน

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

update: 04-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code