อนาคตละครไทย ใครเขียนบท
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
ไม่มีเทค ไม่มีสแตนอิน มีแต่ความในใจกับความหวังของคนเขียนบทที่อยากเห็นละครไทยไปไกลกว่า…'น้ำเน่า'
ปรากฏการณ์สองทุ่มถนนเงียบ คนกลับไปดูละครตอนอวสาน ทั้งประเทศมีแต่เสียงละครโทรทัศน์สะท้อนกลับไปกลับมา…ไม่มีอีกแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีทำให้ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ อยากดูอะไรก็ได้ไม่ต้องรอ
ยิ่งช่องโทรทัศน์ดิจิทัลมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ละครต่างประเทศทั้งจากโซนตะวันออกอย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย จีน ฯลฯ รวมไปถึงฝรั่งฝั่งตะวันตก ต่างรุกเข้ามาแย่งชิงเรทติ้ง ละครไทยจะช่วงชิงคนดูที่มีช่องทางให้เลือกมากมายได้อย่างไร หลายคนบอกว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ 'บท' ทว่าอาชีพ 'คนเขียนบท' ที่เป็นเหมือนผู้กำความสำเร็จให้กับละครแต่ละเรื่อง กลับไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด
ล่าสุด นักเขียนบทต่างค่ายได้รวมตัวกันก่อตั้ง 'สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์' โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หลังพบว่าเยาวชนเลียนแบบละครถึง 78 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายสำคัญก็เพื่อส่งเสริมให้นักเขียนบทขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ นำพาสังคมไทยไปให้พ้นจากความน้ำเน่า ขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับบรรดานักเขียนบทยุคดิจิทัลเหล่านี้
ย้อนอดีตละครโทรทัศน์
ละครโทรทัศน์ไทยเริ่มต้นที่ช่อง 4 บางขุนพรหม นำร่องโดย ขุนศึก, สี่แผ่นดิน, คู่กรรม ออกอากาศสด ๆ บอกบทเสียงดัง ๆ ชนิดที่ผู้ชมสามารถมองเห็นคนบอกบทคลานหลบอยู่หลังโซฟา ยุคนี้นักเขียนบทส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนวรรณกรรม เช่น รพีพร, ถาวร สุวรรณ, สุภา เทวกุล, สุขหฤทัย ซึ่งไม่ใช่แค่เขียนบทแต่ยังเป็นคนทำละครด้วย
ยุคที่ 2 ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. นำโดยรัชฟิล์ม เรื่องแรก ๆ ได้แก่ ขุนแผนผจญภัย, ภิภพมัจจุราช ผู้ผลิตจะถ่ายทำและเขียนบทเอง จนมาถึงยุคที่ 3 ยุคการขยายตัว เริ่มถ่ายทำด้วยวีดิโอเทป 'ภัทราวดี' เป็นผู้เขียนบทคนแรก ๆ ที่ริเริ่มให้นักแสดงท่องจำบทเอง นักเขียนบทในช่วงเวลานั้นก็ได้แก่ วิลาสินี, ศรัณยู, ลลิตา, ครูช่าง ชลประคัลภ์, โม นลินี, สุภา เทวกุล, ศัลยา, ปราณประมูล, ยิ่งยศ ปัญญา, ผอูน จันทรศิริ, ตุ๊ก ญาณี ละครยาวหลายตอนเริ่มได้รับความนิยม ส่วนใหญ่เป็นละครชีวิต
ยุคที่ 4 ถือเป็นยุคเฟื่องฟู ถ่ายทำด้วยวีดิโอเทป บทละครดัดแปลงมาจากนวนิยายเป็นหลัก นักเขียนบทที่โดดเด่น ได้แก่ ฐา-นวดี, ณัฐิยา, เอกลิขิต, คธาหัสถ์, นันทวัน, กลุ่มช่างปั้นเรื่อง ยุคนี้มีนักเขียนบทเกิดขึ้นมากมาย ส่วนยุคที่ 5 โลกาภิวัตน์ เริ่มถ่ายทำด้วยวีดิโอเทปความคมชัดสูง ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก บทละครโทรทัศน์มีทั้งสร้างสรรค์และดัดแปลง ส่วนใหญ่ทำงานเป็นกลุ่มและมีภูมิหลังหลากหลาย ต่างจากยุคก่อนที่มาจากสถาบันการศึกษาที่สอนเรื่องละครเวที-ละครโทรทัศน์ การเขียนบทละครยุคที่ 5 นี้เป็นยุคที่มีหลายขั้วหลายกลุ่ม และเกิดละครซีรีส์ขึ้นในช่วงนี้
ปัจจุบันถือเป็นยุคที่ 6 หรือยุคดิจิทัล มีสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเกิดขึ้นมาก การแข่งขันสูง ทำให้มีการริเริ่มตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ขึ้น โดยมี ศัลยา สุขะนิวัตติ์ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก
"ดิฉันอยู่ในกลุ่มที่ 3 เขียนบทละครโทรทัศน์คู่กันมากับ ปราณประมูล, ยิ่งยศ, คุณทวน, คุณตุ้ม เราอยู่กับโต๊ะสี่เหลี่ยมไม่รู้จักใครเลย ไม่ได้แลกเปลี่ยน สนทนาอะไรกับคนอื่นเลย จนกระทั่งวันที่ 20 กันยายน 2561 ปีที่แล้ว มีการตั้งสมาคมขึ้นมา วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเจอะเจอคุยกัน ทำงานร่วมกัน แนะนำ ให้ความรู้ซึ่งกันและกัน ข้อสอง เพื่อติดต่อกับหน่วยราชการและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการทำละคร ข้อสาม เพื่อพัฒนากันเอง การเขียนบทของประเทศมหัศจรรย์แห่งนี้มีกฎเกณฑ์มากมายที่จะต้องคำนึง จึงต้องพูดคุยกัน หาทางสู้ร่วมกัน สู้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือเรา"
เปิดพื้นที่ให้บทสร้างสรรค์
ละครโทรทัศน์เป็นพาณิชยศิลป์อย่างหนึ่ง เป็นศิลปะที่มีความดี ความงาม และความสุนทรีย์สอดแทรกเข้าไป ล่าสุด 'กรงกรรม' คือละครในกระแสที่ได้รับความนิยมและมีผลต่อความคิดความรู้สึกของผู้ชม ถึงขนาดมีการรวบรวมคำคม-ความคิดที่ได้จากละครเรื่องนี้เผยแพร่ในสื่อโซเชียลมากมาย
ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่อง 'บุพเพสันนิวาส' ที่ทำให้เกิดกระแสโหยหาอดีต คนอยากใส่ชุดไทย อยากไปชมโบราณสถาน อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มมากขึ้น
"ละครโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อสังคมชัดเจนขึ้น เพราะเป็นสื่อฟรีไปถึงทุกบ้าน แข่งขันกันในด้านเนื้อหา คนผลิตละครแต่ละช่องก็มุ่งแข่งขันเพื่อให้เนื้อหาน่าสนใจที่สุด โปรดักชั่นดีที่สุด ละครกระทบคนดูแตกต่างกันไป ได้รับสารสำคัญที่เราสอดแทรกลงไปในเนื้อหาของละครในการดำเนินเรื่องเป็นระยะ ๆ แตกต่างกันไป บางคนรู้สึกตกใจ ประทับใจ สะเทือนใจกับบางวลี บางคนไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตของคนดูแต่ละคน แต่บางประโยคบางการกระทำ แค่สั้น ๆ เล็ก ๆ นิดเดียว ก็สามารถกินใจ ปะทะความรู้สึกของผู้ชมบางคนหรือบางกลุ่มได้ คนดูคือผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง" ยิ่งยศ ปัญญา หนึ่งในนักเขียนบทฝีมือดี ชี้ถึงบทบาทของละครที่มีต่อผู้ชม
ขณะที่ นิพนธ์ ผิวเณร เห็นว่าการทำละครให้ได้ทั้งเงินและกล่องเป็นไปได้แต่ต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้ "ไม่ว่าช่องไหนก็ต้องการกำไร ต้องการขายให้ได้ ละครที่มีเรทติ้งเราต้องการ สมัยนี้ทุกคนสตรองมากที่จะเมนท์ในสเตตัสตัวเอง ทุกคน customize ชีวิตของตัวเอง ดูละครก็เลือกแต่ที่ตัวเองต้องการเท่านั้น เมื่อคนเราเห็นตัวเองมากขึ้นก็จะไม่เห็นคนอื่น คนแบบนี้เป็นเซ็กเมนท์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องรู้เท่าทันคนดูของเรา
คนดูวันนี้กับเมื่อวานไม่เหมือนกัน เพราะใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน ละครแบบไหนที่จะทำให้คนปัจจุบันได้เข้าใจและลึกซึ้ง เราต้องเอาคนดูเป็นตัวตั้ง ทำไมละครที่ดีงามต้องเป็นพีเรียด ทำไมละครปัจจุบันมันงดงามไม่ได้ ผมคิดว่าทำได้ แต่ยังไม่มีคนทำ ต้องเป็นละครที่สื่อสารกับคนปัจจุบันได้ดี แล้วให้เขามีหิริโอตัปปะมันก็จะทำให้ประเทศนี้น่าอยู่ขึ้น"
ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้เสมอก็คือ ละครสร้างสรรค์สังคมได้ และละคร 'ควร' ทำให้สังคมดีขึ้น เพื่อถ่วงดุลความดีงามของมนุษย์ ซึ่งต้องยกย่องผู้ที่ผลิตละครแนวนี้อยู่ อย่างเช่น 'ค่ายมาสเตอร์วัน' ผู้ผลิตละคร 'วัยแสบสาแหรกขาด' ละครน้ำดีที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นที่ประสบปัญหาครอบครัวและการเรียนภายใต้แรงกดดันต่าง ๆ
"ถึงเรทติ้งจะไม่ได้ตามที่ตั้งเป้า แต่เราได้คนดูอีกกลุ่ม ได้ฟีดแบคจากคนที่ปกติไม่ดูละคร เป็นครู เป็นหมอ พอมีละครแบบนี้เขากลับมาดู เลยคิดว่าเราต้องผลิตสิ่งที่ตอบโจทย์ทุกคนให้ทั่วถึงมากที่สุด ไม่งั้นคนดูก็จะไม่ดูละครไทย ตอนนี้ทุกคนสามารถดูละครเกาหลี ญี่ปุ่น อะไรได้หมดเลย ยุคสมัยเปลี่ยนไป คนดูก็มีการเสพสื่อที่หลากหลายมากขึ้น"
ดูละครย้อนดูสังคม
พูดถึงละครไทยทีไร คนส่วนใหญ่ก็มักพูดว่า "มันน้ำเน่า ไม่ดูหรอก" แต่ในมุมกลับหลายครั้งก็กลายเป็นว่า ละครดีไม่มีดราม่า คนก็ไม่ดูเหมือนกัน คำถามก็คือ "อะไรคือน้ำเน่า" และจริงหรือไม่ที่คนไทยไม่ชอบเรื่องน้ำเน่า
"การเมืองไทยยังเน่าเลย ละครไทยจะไม่เน่าได้ยังไง น้ำเน่าคือน้ำที่ไม่ไหล ไม่มีการหมุนเวียนถ่ายเท ไม่มีออกซิเจน มีกลิ่นเหม็น ไม่มีสิ่งมีชีวิตนอกจากยุง น้ำเน่าเป็นคำแสลงใจ เหมือนคำด่า อีน้ำเน่า ถ้าเปรียบเทียบลักษณะของชิ้นงานเป็นน้ำเน่า มันเจ็บแสบ แฝงไว้ด้วยอคติ ละครบางช่วงอุดมไปด้วยน้ำเน่า เพราะมันวนเวียน ซ้ำซาก จำเจ ไม่ไปไหน มีสูตรสำเร็จตายตัว มีจุดจบที่รู้ ๆ อยู่ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้" ยิ่งยศ ปัญญา บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อเสียงสะท้อนในลักษณะนี้
ในภาษาของละคร น้ำเน่านั้นมักถูกนำมาเปรียบเปรยกับ soap opera ของฝรั่ง ซึ่งหมายถึงละครที่เน้นเรื่องของอารมณ์ การบีบคั้นความรู้สึกเป็นอย่างมาก หรือ Melodrama จุดเริ่มต้นของคำคำนี้นั้นเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เนื่องจากละครทางวิทยุช่วงนั้นมักจะออกอากาศในตอนกลางวัน และโฆษณาก็จะเป็นสินค้าที่มีกลุ่มแม่บ้านเป็นเป้าหมาย โดยเฉพาะของใช้สำหรับการรีดผ้าซักผ้ารวมไปถึงสบู่ ซึ่งหลังจาก soap opera ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คนไม่น้อยก็เชื่อว่า เรื่องประโลมโลกเป็นสิ่งที่คนดูชื่นชอบ
"สิ่งนี้คือสิ่งที่คนดูต้องการ เราต้องทำให้คนดูพอใจ มันก็เกิดเรื่องน้ำเน่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียน สังคมเป็นอย่างไร งานศิลปะเชิงพาณิชย์อย่างละครทีวีมันก็ออกมาเป็นอย่างนั้น น้ำเน่าในบริบทของการเสียดสี ประชดประชัน แต่ละครน้ำเน่าบางเรื่องก็ประสบความสำเร็จ นั่นเพราะออกมาในจังหวะที่เหมาะสม นักแสดงเล่นดีถึงความเป็นน้ำเน่า องค์ประกอบที่ออกมาเป็นละครครบเครื่องสมบูรณ์แบบ น้ำเน่าจึงอยู่ในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ลึก ๆ แล้วสะท้อนสังคมด้วยซ้ำว่าผู้คนเป็นอย่างไร" ยิ่งยศ ปัญญา กล่าว ก่อนจะแสดงความคิดเห็นต่อว่า แล้วสังคมไทยจะต้องอยู่กับ 'น้ำเน่า' ไปอีกนานเท่าไหร่
"ทุกสิ่งทุกอย่างเกื้อกูลกัน ยิ่งมองไปในอดีตยิ่งชัด เกิดอะไรขึ้น นิยายแบบนี้ออกมาเป็นก้อนเป็นยวงเป็นโขยง ก็เพราะบ้านเมืองมันเป็นแบบนั้น มันเป็นผลตีกลับไปกลับมา มีอยู่ช่วงหนึ่งเราต่อต้านงานที่เฮงซวย แย่ ไม่ส่งเสริมจริยธรรมสังคมเลย มันกำลังบอกความจริงในอีกหลายแง่มุมของสังคมต่างหาก เราควรจะเปิดใจรับความน้ำเน่าอย่างแฟร์ๆ มองอย่างคนเข้าใจสังคม อย่างน้อยที่สุดน้ำเน่าเรื่องนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในสายตาของผู้ชม มันก็มอบความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการละครลำดับแรก"
ไปให้ไกลจากความรุนแรง
ประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และสร้างผลกระทบที่น่ากังวล นั่นก็คือความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ในละครไทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่มองเห็นได้ง่าย ๆ อย่างการให้คำหยาบคาย ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย การใช้อาวุธ หรือความรุนแรงที่มองไม่เห็น อย่างทัศนคติที่แฝงเร้น เช่น พระเอกข่มขืนนางเอกไม่ใช่เรื่องผิด การล้อเลียนเรื่องบุคลิกภาพ ภาษา คือความบกพร่องของคนในด้านต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่คนเขียนบทต้องช่วยกันหาทางออก
"จริง ๆ แล้วควรจะต้องมีการกระทำหรือคำพูดอะไรตามมาหลังความรุนแรงนั้น คนจะได้เรียนรู้จากตรงนั้น แล้วมันควรจะย้ำๆๆ ถ้าเราร่วมมือกัน ต้องดูว่าเราจะต่อสู้หรือจะอะไรกัน ละครน้ำเน่าคนก็ดู ถ้าเราเอาสิ่งนี้สอดเข้าไปกลมกลืนกับน้ำเน่า เราเอาผลกระทบ เอาเหตุผล เอาอิมแพคใส่เข้าไป การกระทำที่ไม่ดีมันได้ผลอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าสอนไปร้อยคนแล้วจะได้ทั้งร้อยคน อย่างไรละครก็ต้องสอนคน ต้องมีความมุ่งหมาย นี่คืออันดับหนึ่ง" ศัลยา แสดงทัศนะ
นอกจากจะคำนึงถึงความรุนแรงที่แฝงมากับบทละครแล้ว อีกด้านหนึ่งการทำละครก็ควรสะท้อนแง่มุมทางสังคมที่หลากหลาย ให้ความรู้ความคิดกับผู้ชมด้วยความแยบยล อย่างเรื่องคอร์รัปชัน ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่นักเขียนบทรุ่นเก๋าอย่างศัลยาให้ความสนใจ และเคยถ่ายทอดผ่านละคร 'เหนือเมฆ' มาแล้ว แต่น่าเสียดายที่ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศต่อ
"สิ่งที่ซ่อนอยู่ในชั้นเชิงที่นำเสนอ นั่นล่ะจะมีเอฟเฟคต่อคนดู ต้องกลมกลืน ไม่ยัดเยียด แอบวางแผนให้เกิดเครื่องหมายคำถามจากคนดู คนดูถามตัวเอง วิเคราะห์ สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในชิ้นงาน เป็นจุดประสงค์หลักของปฏิพัทธ์ศิลปะการละคร บทบาทของละครคือทำให้คนดูเกิดวุฒิปัญญา เกิดจากการตั้งคำถามอยู่เสมอกับตัวเอง กับการค้นหาความหมายของชีวิต การค้นหาความหมายของการมีตัวตนในสังคม มีชีวิตอยู่เพื่อใคร เพื่อตัวเอง หรือเพื่อคนอื่น หรือความสุขที่แท้จริงของชีวิตคืออะไรกัน" ยิ่งยศ กล่าวเสริม
ถึงที่สุด อนาคตของละครโทรทัศน์ไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเขียนบทเท่านั้น ยังมีองค์ประกอบมากมายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน คนดูเองก็มีผลต่อการตัดสินใจในการผลิตละคร ยิ่งยุคนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างง่ายดาย การเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางจึงไม่ใช่เรื่องยาก