อนาคตการศึกษาไทย
ในการจัดเวทีวิชาการงานอภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิพัฒนาไท จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการนำเสนอหลากหลายกิจกรรมและข้อมูลความรู้ที่ถือว่าจะเป็นคานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่อยากหยิบยกมากล่าวถึงก็คือ การจัดกิจกรรมดินเนอร์ทอล์กในหัวข้อ "ประเทศไทยจะหลุดจากอันดับรั้งท้ายคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร"
แค่เห็นหัวข้อก็น่าสนใจแล้ว แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เวทีนี้คนที่มาขายความคิดว่า ประเทศไทยจะหลุดจากอันดับรั้งท้ายได้อย่างไรนั้นเป็น "คนนอกวงการศึกษา" หรือผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่จัดการศึกษาโดยตรง ซึ่งบุคคลที่น่ากล่าวถึง อาทิ ดร.นิโคลัส เบอร์เนตต์ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อดีตผู้บริหารระดับสูงของยูเนสโกและธนาคารโลก รวมทั้ง ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาโดยตรงอย่าง ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กลับมาร่วมวงด้วยการรับฟังอย่างตั้งใจ
ในมุมมองของ ดร.นิโคลัส เบอร์ เนตต์ เสนอว่า งบประมาณด้านการศึกษาที่ใช้ไปไม่ควรมองที่ปริมาณแต่ควรมองว่าเม็ดเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างไรมากกว่า จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากอันดับรั้งท้ายได้นั้น ต้องทำให้เด็กทุกคนเข้าสู่ระบบโรงเรียน เพราะปัจจุบันยังมีเด็กถึงร้อยละ 11 ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ ในขณะที่เด็กอีกจำนวนมากแม้เข้าสู่ระบบไปแล้ว แต่กลับต้องหลุดออกไปกลางคัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายเป็นมูลค่าถึง 3% ของจีดีพี หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ดร.นิโคลัส ย้ำว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของเด็กทั้งในและนอกระบบอย่างทันเวลา อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง และที่สำคัญการสร้างคุณภาพการศึกษาไม่ควรมองที่ปัจจัยนำเข้าเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองที่ผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า คือการมองที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงควรเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ หรือการเรียนรู้ 2 ทางที่ครูและนักเรียนมาเรียนรู้ร่วมกัน จึงจะทำให้คุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
"ระดับการศึกษาที่ประเทศไทยควรให้ความใส่ใจอย่างมากคือ มัธยมศึกษา โดยจะต้องคิดให้ได้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้การจัดการศึกษาสามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืน สามารถผลิตเด็กให้สอดคล้องกับความต้อง การของภาคธุรกิจ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา" ดร.นิโคลัส ย้ำถึงความสำคัญของมัธยมศึกษา
ในขณะเดียวกัน ดร.นิโคลัส ยังชี้ให้เห็นว่า ทักษะสำคัญที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในเด็กรุ่นใหม่คือ ทักษะในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และงานอาชีพ รวมทั้งทักษะในการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่ ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จะ ต้องทำให้การเรียนการสอนส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้เพื่อเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ในขณะเดียวกันจะต้องดึงภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบจัดการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มองว่า งบประมาณด้านการศึกษาของไทยมีการเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี แต่ระบบบริหารจัดการยังคงเหมือนเดิม คือการรวมศูนย์และ Top-Down หรือ การสั่งการจากบนลงล่าง ไม่มีการปฏิรูประบบงบประมาณสนับสนุน ไม่มีการจัดสรรงบประมาณหรือระบบบริหารที่จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ นอกกระทรวงศึกษาธิการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนา การศึกษา แม้จะมีบทบัญญัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่ ศ.นพ.ประกิต ก็ตั้งคำถามว่า ชุมชนของเรามีส่วน ร่วมในการจัดการศึกษาเพียงแค่ในกระดาษหรือไม่?
ศ.นพ.ประกิต ยังได้หยิบยกกรณีศึกษาการปฏิรูปการศึกษาของฮ่องกงมากล่าวถึง ที่มีบทสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน ให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และต้อง สร้างความมั่นใจว่าทรัพยากรที่จัดสำหรับการศึกษาของโรงเรียนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างมีความรับผิดชอบ จึงเชื่อว่าการตั้งกองทุน Quality Education Development Fund (QEDF) ซึ่งมีลักษณะเดียวกับ Quality Education Fund (QEF) ในฮ่องกง จะสามารถตอบสนองความกังวลของสังคมเกี่ยวกับการขาดงบประมาณสนับสนุนได้ เพื่อให้เกิดความริเริ่มเรื่องคุณภาพ และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากระดับพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างวงจรการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
"เราต้องมีนวัตกรรมการสนับสนุน งบประมาณด้านการศึกษาในลักษณะองค์การที่ต้องตอบสนองรูปแบบการทำงานใหม่ สนับสนุนสิ่งที่งบปกติทำไม่ได้ ไม่ได้ทำ หรือทำยาก ที่สำคัญต้องเป็นโครงการนวัตกรรม ที่เริ่มจากรากหญ้าที่เงินและระบบปกติทำได้ยาก หรือทำแล้วไม่เกิดประสิทธิผลจึงจะ สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาไทยได้จริง"
ในตอนท้าย ศ.นพ.ประกิต ยังได้หยิบยกคำจำกัดความของคำว่า " Insanity" หรือ "วิกลจริต" ในมุมมองของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกมาสะกิดเตือนใจกัน ซึ่งไอน์สไตน์ บอกว่า "Insanity" หรือ "วิกลจริต" คือ "การทำอะไรบางอย่างด้วยวิธีเดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่หวังที่จะได้ผลที่แตกต่าง" ก็ดูจะเป็นการตบท้ายด้วยแง่คิดที่โดนใจดีเหมือนกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พลพิบูล เพ็งแจ่ม
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต