องค์กรแห่งความสุขผ่านแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์…ทำให้รู้สึกว่า วันนี้เป็นอีกโอกาสที่เหมาะที่จะเผยแพร่บอกเล่าเก้าสิบถอดบทเรียนขององค์กรแห่งความสุข ซึ่งยึดโยง เดินตามรอยพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี อันเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ว่า ความสุขที่ยั่งยืนขององค์กรหรือการทำธุรกิจนั้น ต้องมีความสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์และความสุขทางใจ หรือการเดินสายกลางที่ไม่สุดโต่งนั่นเอง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฎิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ ระดับครอบครัวระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภานใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสิรมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ครอบคลุมและชัดเจน สำหรับพระอัจฉริยะภาพที่ไม่มีคำว่า "ล้าสมัย" เพราะประเทศหรือสังคมใดจะพัฒนายั่งยืน ต้องรอบรู้ รอบคอบ สั่งสมภูมิคุ้มกัน พร้อมอยู่เสมอต่อการเปลี่ยนแปลง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมิใช่เป็นแค่ "โมเดล" ที่อยู่ในจินตนาการหรือในกระดาษ แต่มีผู้น้อมนำมาปฏิบัติและสามารถประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะทำให้องค์กรมีความสุข ซึ่งแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ยอมรับให้เป็นหนึ่งใน 100 องค์กรหลากสุขจากกระบวนการตามล่าหา "แก่นแท้" องค์กรแห่งความสุข เพื่อยืนยันว่า องค์กรแสนสุข หรือ happy model นั้นไม่ใช่แค่ "กิจกรรม" ที่ต้องทำเพื่อเชื่อมต่อสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานกับองค์กร หรือเป็น "ภาพลักษณ์องค์กร" ที่จะนำไปอวดอ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ หวังผลทางการค้าหรือธุรกิจเท่านั้น
บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด คือตัวอย่างองค์กรหรือธุรกิจที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารงานจนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลในฐานะธุรกิจระดับกลาง ซึ่งในงานเสวนาครั้งนี้ ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัทบาธรูมดีไซน์ จำกัด ก็ได้มาแบ่งปันแนวทางและประสบการณ์ในช่วงเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ และหลังจากฟังแล้วก็สรุปความได้อย่างไม่ต้องลังเลว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือในการสร้างความสุขขององค์กรอย่างแท้จริงและยั่งยืน และเมื่อค้นเข้าไปถึงประวัติและที่มาของบาธรูมดีไซน์จึงไม่แปลกใจเลยว่า องค์กรแห่งนี้ได้ถูกจัดให้เป็นองค์กรต้นแบบของแฮปปี้เวิร์คเพลส
"การรักษาสมดุลของธุรกิจด้วยแนวทางบริหารแบบพอเพียงนั้น ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแนวของเศรษฐกิจพอเพียงคือ เราจะทำในสิ่งที่เรารักและถนัด" เป็นสิ่งที่ซีอีโอแห่งบาธรูมดีไซน์ บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งห้องน้ำที่กล้าปฏิวัติรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องน้ำในเมืองไทยบอกเล่า และเป็นแนวทางการบริหารงานที่ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทธรรมาภิบาล ดีเด่น ประจำปี 2550 นอกเหนือจากรางวัลในภาคธุรกิจการค้าอาทิ ไอเอฟ โปรดักท์ ดีไซน์ อวอร์ด 2007 จากประเทศเยอรมนีที่ถือเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับสถาปนิกทั่วโลก
แนวคิดของเขาคือ "มีความสุขทุกขั้นตอนในการทำงาน" พร้อมทั้งนำหลักของพระพุมธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจโดยมีหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.ผลิตให้มาก คือ ทำในสิ่งที่เรารักให้มาก 2.ใช้แต่พอดี คือ มีความสุขจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นอยู่อย่างพอเพียง และ 3. เหลือช่วยผู้อื่น คือ มีความสุขจากการแบ่งปันให้กับพนักงานลูกค้า และสังคม ซึ่งถาเราไม่เคยพอก็ไม่มีเหลือให้คนอื่น
"การรักษาสมดุลของธุรกิจด้วยการบริหารแบบพอเพียงนั้น ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงคือ เราจะทำในสิง่ที่เรารักและถนัด ซึ่งแนวทางคือพอประมาณ มีภูมิต้านทาน และมีเหตุผล ถ้า 3 ห่วงคล้องกัน ตัวที่อยู่ตรงกลางก็คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง แต่หากเราพอประมาณแต่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากพึ่งพาตัวเองอย่างเดียว พอตลาดต่างประเทศเข้ามาเราก็แย่ ในขณะเดียวกันหากแข่งขันได้ แต่ไปเอาเปรียบคนอื่น ลูกค้า ลูกน้อง ก็หนีไปที่อื่นหมด หรือเอาเปรียบชุมชน ก็เป็นแบบอุตสาหกรรมที่เราเห็นๆ กันอยู่ คือการเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม" การขยายความการประยุกต์แนวปรัชญาของในหลวงมาใช้ในภาคธรกิจจากคำบอกเล่าของ ดร.วัชรมงคล ซึ่งฟังแล้วต้องนึกชื่นชมในใจพร้อมกับปรบมือออกมาดังๆ
ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก…รักในสิ่งที่ตัวเองทำ…คือมีมิติสร้างสุขของปัจเจกบุคคลในโลกแห่งความเป็นจริงที่เชื่อว่า ทุกคนไม่ว่าอยู่ในอาชีพ สถานะใดเข้าใจเข้าถึงอยู่แล้ว และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ทำงานร่วมกันในสิ่งที่ตัวเองรัก และภาคภูมิใจ ย่อมจะส่งผลให้เกิดสังคมหรือองค์กรแสนสุขตามมา
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้ว คนที่กำลังตามล่าหาความสุขในองค์กร ทำไมไม่ลองนำไปตรึกตรองและลงมือปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดเมื่ออาเซียนเปิดประตูเศรษฐกิจไร้พรมแดน ตลาดการค้าเป็นตลาดเดียวทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาค เราก็จะพร้อมรับมือเพราะองค์กรแข็งแรง มีความสุขเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญนั่นเอง
หรือใครคิดจะขอโมเดลสร้างองค์กรแสนสุขมาก๊อปปี้ลงมือทำ สสส.โดยแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชนดูเหมือนว่ามี "แอพฯ" ต่างๆ พร้อมบริการ "ฟรี" อยู่แล้ว…
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์