องค์กรร่วมใจ สร้างสุขให้สังคม
สัปดาห์ก่อน เล่าถึงลักษณะคนทำงานอย่างมีความสุข ตามที่ นพ. ชาญวิทย์ วสันตธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ได้พูดถึงระหว่างการบรรยาย เรื่องการทำงานอย่างมีความสุข ให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมทำแผนปฏิบัติการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมว่า จะต้องมีความพร้อมที่จะทำงาน สามารถใช้ ชีวิตได้ และอยู่ร่วมกับคนอื่นในที่ทำงานได้
สัปดาห์นี้มาตามกันต่อว่า ทำไมทั้งสามองค์ประกอบนี้จึงมีความสำคัญ ขาดข้อใดข้อหนึ่งได้ไหม ซึ่งคุณหมอชาญวิทย์ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมความเชื่อมโยงของทั้งสามข้อดังนี้
"คนที่มีความพร้อมทำงาน มีความสามารถ ฉลาด แต่อีคิวไม่ดี เช่นคิดว่า ฉันเก่งคนเดียว แต่ทำงานเป็นทีม ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ หรือองค์กรที่มีคนทำงานกับคนอื่นได้ดี แต่คนๆ นั้น มีปัญหาชีวิต มีหนี้สินเต็มไปหมด จะมาทำงานได้อย่างไร บางองค์กรมีคนพร้อมมาทำงาน เข้ากันได้ดี แต่ไม่เก่งจะไปแข่งขันได้อย่างไรจะเห็นว่าทั้งสามองค์ประกอบนี้สำคัญ ซึ่งผู้บริหารองค์กรจะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีชีวิตที่สมดุล เพราะเมื่อใดที่เขามีความสมดุล ทั้งชีวิตงาน ชีวิตครอบครัว และทุกคนในทีมทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพงานก็ก้าวหน้า"
ถามว่า เป็นหน้าที่ใครที่จะทำในเรื่องนี้ นพ.ชาญวิทย์ พูดและย้ำประเด็นนี้ในหลายเวทีว่า นอกจากผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ และมีนโยบายที่จะทำในเรื่องนี้แล้ว ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นมีความสำคัญมากในการที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคนขององค์กรให้มีความสุข มีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็ง สนับสนุน การทำงานซึ่งกันและกัน ทำงานเป็นทีม
"องค์กรคือ ที่ๆ เราอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค หากทุกคนทำหน้าที่ช่วยกันจนงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ องค์กรก็จะก้าวไปข้างหน้า ดังเป้าหมายที่หลายองค์กรตั้งไว้ว่า จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศ High Performance Organization ดังนั้นหากเราสามารถ ให้คนที่อยู่ในองค์กรมีความสุข เขาก็จะสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เกิดงานใหม่ๆ และเกิดความรู้ใหม่ๆ"
สำหรับแนวทางในการสร้างองค์กรแห่งความเป็นเลิศนั้น คุณหมอชาญวิทย์ ย้ำว่าหัวใจสำคัญคือ จะต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยนอกจากจะไม่สร้างกำแพงขึ้นมาในที่ทำงานแล้ว ก็จะต้องมีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส สร้างวัฒนธรรมเรียนรู้ข้อผิดพลาดร่วมกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีการเปิดใจ มีการเรียนรู้ร่วมกัน หรือร่วมกันทำกิจกรรมสังคม
ถึงตรงนี้ทำให้ถึงบางอ้อ ว่าเหตุใด หลายองค์กรที่มีนโยบายส่งเสริมการสร้างสุขในองค์กร จึงมีโครงการช่วยแบ่งเบาะภาระพนักงานในการเลี้ยงดูลูกเล็กๆ หรือมีโครงการปลดหนี้ พาพนักงานไปปฏิบัติธรรม เจริญสติ อนุญาตให้พนักงานนำครอบครัวมาร่วมกิจกรรมของบริษัทได้ รวมถึงการจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านพนักงาน ตลอดจนส่งเสริมการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้พนักงาน มีการทำนาในโรงงาน ปลูกผักบนดาดฟ้า นอกเหนือไปจากกิจกรรมการให้ การทาสีโรงเรียน หรือการเลี้ยงอาหาร
อย่างไรก็ตามจากเวทีการประชุมปฏิบัติการร่วมกับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธาน CSR พอเพียง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จุดประกายให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้คิดสร้างสรรค์กิจกรรม ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจ หรือภาคเอกชนไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ผู้เขียนเห็นว่ามีหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ และจะช่วยสานสุขให้สังคมได้เป็นอย่างดีทีเดียว เช่น โครงการห้องสมุดเด็กเล่นเพื่อเด็กพิการในชุมชน (Toy Library) ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
จ.อุตรดิตถ์ ได้แนวคิดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีการทำกิจกรรมนำร่องขึ้นมาแล้ว แต่เป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ขณะที่ของเล่นยังมีน้อย ทำให้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้มากนัก จึงต้องการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยจัดกิจกรรมและจัดหาของเล่นที่เป็นประโยชน์ เช่น ลูกบอลยางเล็กๆ เพื่อที่จะให้เด็กพิการได้นวดตัว ลูกบอลลูกใหญ่ๆ เพื่อนวดหลัง ยืดกล้ามเนื้อ รวมถึงหีบเพลง กระตุ้นการรับรู้ให้เด็กพิการทางหู หนังสือระบายสี สมุด วาดภาพหนังสือ รวมไปถึงอุปกรณ์ และดินน้ำมัน
ยังมีอีกหลายโครงการที่น่าสนใจ ขออนุญาต นำมา เล่าในคราวต่อไป เพื่อเป็นไอเดีย สำหรับองค์กรต่างๆ ได้นำไปขยายผล เพื่อร่วมกันสร้างสุขทั้งในองค์กร และสร้างสุขให้สังคมไปพร้อมๆ กัน
"เมื่อใดที่เขามีความสมดุล ทั้งชีวิตงาน ชีวิตครอบครัว และทุกคนในทีม ทำงาน ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ งานก็ก้าวหน้า"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย พิมพร ศิริวรรณ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต