องค์กรต้นแบบ ขยะจัดการได้ด้วยนโยบายที่แน่วแน่
ที่มา : หนังสือ GO ZERO WASTE ชีวิตใหม่ไร้ขยะ โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ภาพโดย สสส.
ใครว่าสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมคนจำนวนมากอย่างองค์กรนั้นไม่สามารถควบคุมการจัดการขยะได้?
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือตัวอย่างขององค์กรที่สามารถสร้างผลลัพธ์การจัดการขยะที่ประสบผลสำเร็จและเห็นได้ชัด ด้วยวิธีการลดใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นผ่านนโยบายที่แน่วแน่ สำหรับคำถามที่ว่า “การจะเป็นองค์กรสามารถควบคุมการสร้างขยะของคนจำนวนมากได้ต้องทำอย่างไร?” ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. จะมาตอบคำถามนี้ให้แก่เรา
“สสส. มีแนวคิดในการที่จะจัดการเรื่องขยะ และลดใช้ทรัพยากร โดยเชิญชวนทุกคนมาช่วยกัน ‘คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ’ ทุกครั้งที่เราใช้เราซื้อของนั้นทำให้เกิดขยะขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ส่วนเรื่องของการประชุม ซึ่งมีเป็นประจำทุกวันจากหลาย ๆ สำนัก ในห้องประชุมก็จะใช้แก้วน้ำหรือภาชนะใส่น้ำที่ไม่ใช่พลาสติกทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรื่องของเอกสารประกอบการประชุมเราก็จะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนเพื่อลดการใช้กระดาษ สำหรับเจ้าหน้าที่ สสส. เราก็รณรงค์ให้ทุกคนมีแก้วน้ำส่วนตัว ในร้านค้าเองก็รณรงค์ไม่ให้ถุงพลาสติก มีการเอาถุงผ้ามาวางไว้เผื่อใครจำเป็นต้องใช้ก็สามารถหยิบยืมไปใช้ได้”
นอกจากนโยบายการลดใช้ทรัพยากร สสส. ยังมีการจัดการขยะด้วยการแยกเพื่อนำไปทิ้งในที่ที่ถูกต้องหรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ไม่เหลือทิ้ง โดย ทพ.ศิริเกียรติ ได้อธิบายให้เราฟังว่า
“ในส่วนของขยะที่เหลือจริง ๆ จะมีการแยกขยะเป็น ขยะแห้ง ขยะเปียก และขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ ทั้งในบริเวณสำนักงานและที่ห้องอาหาร ซึ่งมีการแยกขยะเปียกออกมาเพื่อนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพนำกลับมาใช้หุงต้ม และน้ำหมักชีวภาพใช้บำรุงต้นไม้ สิ่งนี้เป็นการสาธิตให้เห็นว่า เศษอาหารที่ดูเหมือนไร้ค่าก็เอามาทำประโยชน์ได้ ขยะพิษอย่างแบตเตอรี่ หลอดไฟ ก็จะมีถุงสีแดงที่ติดป้ายไว้เฉพาะสำหรับรับขยะอันตรายทั้งหลาย ภายในอาคารก็เลือกใช้ไม้อัดจากเศษวัสดุธรรมชาติ วัสดุทดแทนไม้จากกล่องกระดาษ และการตกแต่งภายในด้วยแกนกระดาษ เป็นต้น สสส.พยายามจะสนับสนุนเรื่องนี้ การนำเอาสิ่งที่หมดมูลค่าแล้วมาใช้ประโยชน์ต่อได้ เพื่อเป็นตัวอย่างในเรื่องของการลดใช้ทรัพยากรและการจัดการขยะที่ดีที่คนอื่นเอาไปทำต่อได้”
“เมื่อนโยบายได้รับความร่วมมือก็จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการร่วมสร้างสังคมที่ปราศจากขยะในอนาคต”
ทพ.ศิริเกียรติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากนโยบายการรณรงค์ที่ทำให้คนเข้าใจว่าทำไมเราต้องมาช่วยกันจัดการขยะมันทำให้คนปรับพฤติกรรมได้ จริง ๆ แล้วหลายคนก็เอาตัวอย่างดี ๆ เหล่านี้กลับไปใช้ที่บ้าน เมื่อเราพัฒนาจนพบว่าสิ่งนี้เป็นจิตสำนึกได้ในอนาคต จิตสำนึกที่สร้างขึ้นมานี้จะทำให้ประเทศเราน่าอยู่มากขึ้น ปัญหาเรื่องขยะลดลง สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น”