ห้ามขายน้ำอัดลมในร.ร.ป้องกันเด็กเป็นโรคอ้วน

สสส. ระบุอีก 6 ปี เพิ่ม 20%

ห้ามขายน้ำอัดลมในร.ร.ป้องกันเด็กเป็นโรคอ้วน 

          กทม. เตรียมห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เด็กไทยไร้พุง พร้อมกำหนดอาหารห้ามขายรอบโรงเรียนก่อนเปิดเทอมใหม่ ด้าน สสส. ระบุอีก 6 ปีข้างหน้าเด็กไทยจะอ้วนเพิ่มขึ้นอีก 20%

 

          นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. ถึงความคืบหน้าโครงการเด็กไทยไร้พุงว่าจากผลการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการในโรงเรียนสังกัด กทม. ระหว่างปี 2548-2551 พบเด็กมีอัตราภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 9.55 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 10.43 ในปี 2551 โดย กทม. เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. จึงกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การสร้างเด็กไทยไร้พุง 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดทำระบบข้อมูลพัฒนาการทาง กายของนักเรียน 2.การปรับปรุงการบริการด้านโภชนาการ 3.การส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ 4.การสร้างแนวร่วมเป็นพลังสู่ความยั่งยืน

 

          สำหรับแนวทางในการดำเนินการจะจัดอบรมครูแกนนำผู้ดำเนินโครงการของโรงเรียน อบรมครูโภชนาการของโรงเรียนและ แม่ครัว จัดระบบงานครัวและอาหารในโรงเรียน การกำกับดูแลและติดตามผล การจัดทำเอกสาร คู่มือ หนังสือ เพื่อเผยแพร่ความ รู้และเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการให้กับโรงเรียน การสร้างเครือข่ายแนวร่วมโรงเรียนและผู้ปกครอง และร่วมกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

 

          รวมทั้งจะประสานขอความร่วมมือจากสำนักเทศกิจให้ดูแลร้านค้าที่ขายอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน และตรวจตราให้จำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีประโยชน์กับเด็ก ซึ่งสินค้าที่จะไม่ให้มีการจำหน่ายอย่างเด็ดขาดคือน้ำอัดลม เนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ โรคอ้วน และฟันผุ ส่วนสินค้าชนิดอื่นๆกำลังหาข้อสรุปว่าห้ามขายสินค้าชนิดใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 และจะเริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้า

 

          ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า สถานการณ์โรคอ้วนของไทยเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยง ทั้งการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น มีพฤติกรรมกินหวานเพิ่มขึ้น ซึ่งนำมาสู่สาเหตุการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน และความดันเลือดสูง

 

          ในอนาคตอีก 10-20 ปี รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาอาการแทรกซ้อนจากโรคกินเกิน เป็นเงินมหาศาล สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าปัญหาสุขภาพที่ เลวร้ายซึ่งเกิดจากพฤติกรรม 3 อันดับแรกคือ 1.พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศนำไปสู่การติดเชื้อเอสไอวี 2.การสูบบุหรี่ที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ และ 3.โรคอ้วนที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ

 

          ด้าน ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรมอนามัยคาดว่าในอีก 6 ปีข้างหน้าความชุกของเด็กอ้วนจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กในวัยเรียน หรือมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 20% หากไม่จัดการกับการกินเกินความจำเป็น จากข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชปี 2550 เด็กอ้วนอายุ 6-18 ปี จำนวน 125 ราย พบว่า 1 ใน 5 รายเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปรกติ และ 100 รายเป็นเบาหวาน 3 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กและวัยรุ่นทั่วไป

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

 

update: 25-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code