ห่วงโรคหัดในเด็กเล็ก
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคหัด ปี 2560 จำนวน 1,474 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 2.25 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงกว่า ปี 2559 และค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 เหตุการณ์ คือ จังหวัดนครปฐม จำนวน8 รายและจังหวัดเชียงราย จำนวน 6 ราย
"การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น จึงควรเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคหัดอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้พบได้ในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้ โรคหัด ติดต่อกันได้ง่ายโดยการหายใจเอาเชื้อโรค ซึ่งอยู่ในละอองน้ำลายและน้ำมูกของผู้ป่วยขณะไอ จาม เข้าสู่ร่างกาย อาการผู้ป่วย จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ผื่นจะขึ้นที่หน้าบริเวณชิดขอบผมแล้วกระจายไปตามลำตัว แขน ขา ไข้จะเริ่มลดลง ผื่นมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำและจะจางหายไป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามนัด ส่วนในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนควรได้รับวัคซีน 1 เข็ม โดยให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน จะช่วยป้องกันโรคหัดและโรคแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ หากพบผู้มีอาการดังกล่าวให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที หรือสอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422"