ห่วงแอลกอฮอล์ปลอม เสี่ยงทำตาบอด
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางสำนักอนามัย มีคำเตือน เจล-แอลกอฮอล์ปลอม มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้ถึงขั้นตาบอดได้
ภกญ.บุญญวรรณ เต็งตระกูล ผู้อำนวยการกองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอลล้างมือ ทาง อย.ระบุถือเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ดังนั้นจึงถือว่าสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือเป็นเครื่องสำอางชนิดหนึ่ง ใช้วิธีการตรวจสอบแบบเดียวกับเครื่องสำอาง
ปัจจุบันแอลกอฮอล์ที่นำมาทำเป็นสเปรย์หรือเจล จะเป็นประเภทเอธิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล ซึ่งได้จากการหมักพืช อาทิ อ้อย น้ำตาล และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพานอล ซึ่งแอลกอฮอล์เหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ผลิตสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ นำแอลกอฮอล์อีกประเภทคือ เมทิล แอลกอฮอล์หรือเมทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม
อาทิ น้ำมันตะเกียงในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่โดน และหากดื่มเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงตาบอดหรือเสียชีวิตได้ แต่เนื่องจากสารทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติคล้ายกัน ผู้ซื้อไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตัวเอง จึงควรอ่านส่วนผสมจากฉลากให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ
ภกญ.บุญญวรรณ กล่าวว่า ข้อควรปฏิบัติเมื่อคิดจะซื้อสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ควรซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือ มีหลักแหล่งแน่นอน อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา 2.ควรเลือกซื้อสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ครั้งที่ผลิต วันหมดอายุ คำเตือนต่าง ๆ หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ควรดูเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อนำไปตรวจสอบได้รับรองคุณภาพมาตรฐานจาก อย. หรือไม่
แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยังคงพบปัญหา ดูแค่เลขที่ใบรับแจ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะบางยี่ห้อใช้เลขที่ใบรับแจ้งของผลิตภัณฑ์อื่น หรือใช้ใบรับแจ้งของผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกเลขที่ใบรับแจ้งไปแล้ว แต่ยังคงหลงเหลือในท้องตลาด และอาจมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่ถึง 70%
“การตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าถึง 70% หรือไม่ ต้องใช้ผลทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและกินเวลานาน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อควรตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง) ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application หรือLine: @FDATHAI หรือ สายด่วน อย.1556”
ภกญ.บุญญวรรณ กล่าวอีกว่า 3.ควรขอดูเอกสารระบุรายละเอียดของแอลกฮอล์ เช่น ใบรับรองผลวิเคราะห์หรือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจชนิดและคุณภาพของแอลกอฮอล์ 4.ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท สามารถป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ได้ ไม่เสื่อมสภาพก่อนถึงวันหมดอายุ และ 5.ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ โดยดูได้จากหากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ มีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น มีการแยกชั้น จับตัวเป็นก้อน ตกตะกอน เปลี่ยนสี หรือเมื่อผลิตภัณฑ์สัมผัสมือแล้วไม่มีความเย็นจากการระเหยของแอลกอฮอล์ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
หากเพิ่งใช้แอลกอฮอล์ล้างมือยี่ห้อนี้เป็นครั้งแรก ควรทดสอบการแพ้ก่อน โดยถูในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขนและทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง พร้อมสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้าผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน บวม ให้รีบหยุดใช้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ทำให้สามารถติดไฟได้หากถูกที่มือแล้วยังไม่แห้งสนิท โดยไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือกับเด็กทารก หรือผิวหนังรอบดวงตา บริเวณที่มีสิว มีบาดแผล เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง
“ขอเตือนว่าผู้ผลิตไม่ควรนำเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอล มาเป็นส่วนผสมในการผลิตสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพราะต้องการลดต้นทุน เนื่องจากเมทิลแอลกอฮอล์ มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม เยื่อบุตาอักเสบ หากสัมผัสไปในปริมาณมาก ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก และอาจตาบอดได้
ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ แต่ติดฉลากว่าเป็นแอลกอฮอล์แล้วนำมาจำหน่าย โดยผู้ผลิตจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายก็จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ภกญ.บุญญวรรณ กล่าวเตือนว่า ในโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลวิธีการตรวจสอบสเปรย์ หรือเจลแอลกอฮอลล์ล้างมือด้วยตนเองง่าย ๆ อาทิ นำแอลกอฮอล์ที่ซื้อมาไปใส่ในภาชนะทางเคมี และตั้งไฟ จากนั้นนำเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดอุณหภูมิ เมื่อถึงจุดเดือดของเอทิลแอลกอฮอล์ จะสูงประมาณ 78 องศาเซลเซียส
ขณะที่เมทิลแอลกอฮอล์จะมีจุดเดือดประมาณ 65 องศาเซลเซียส หรือนำแอลกอฮอล์ใส่หลอดทดลอง แล้วเติมสารละลายไอโอดีน เช่นเบตาดีน ผสมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ จากนั้นนำหลอดไปแช่ในอ่างน้ำอุ่นสักพัก นำขึ้นมาเขย่าหลอดแล้วทิ้งไว้ 2 นาที ถ้าเป็นหากแอลกอฮอล์ที่ซื้อมามีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ จะมีตะกอนสีเหลืองเกิดขึ้นแต่ถ้าเป็นเมทิลแอลกอฮอล์จะไม่มีตะกอน