ห่วงเด็กไทย “ติด” เกมหนัก
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิตร่วมกับ สสส. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความตระหนักผลกระทบจากการติดเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชน
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างความตระหนักผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกม ซึ่งสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ได้พัฒนานวัตกรรมช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะติดเกม ที่ความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ภาวะปกติ ภาวะติดเกมระดับน้อย ภาวะติดเกมระดับปานกลาง ภาวะติดเกมระดับรุนแรง ก่อนนำไปสู่การพิจารณาวางแผนการรักษาในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ในปี 2556 พบเด็กติดเกม 2.5 ล้านคน จากเด็ก 18 ล้านคนทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ 2560 พบว่าปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมส่วนใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิดของเกม อาทิ เกมประเภท First Personal Shooting, MOBA และ SPORTS game competition เป็นหลัก โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1-4 เกมสลับกันไป
ดังนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงประกาศเจตนารมณ์ การคุ้มครองเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติดเกม และร่วมกำหนดประเด็นการรณรงค์ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก คือ "เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี" พร้อมแต่งตั้งคณะทำงาน ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการคุ้มครองเยาวชนฯ ป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมอง พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักถึงผลเสียและเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมแก่เด็ก ครอบครัว และครู สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการ.