ห่วงเด็กไทยอ้วนอันดับ 3 ในอาเซียน สธ.เร่งยกร่างพ.ร.บ.จำกัดโฆษณาขนมในกลุ่มเด็ก

ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ

                    เด็กไทยอ้วนติดอันดับ 3 ในอาเซียน สถิติเด็กอายุ 0-5 ขวบอ้วนพุ่ง!! สาเหตุเมิน “นมแม่” รองอธิบดีกรมอนามัย ชี้หากไม่ทำอะไรเลย ประชากรโลกอายุต่ำกว่า 20 ปี จะอ้วนเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในปี 2573 เผยคนป่วย NCDs 50% เคยเป็นเด็กอ้วน ภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ผล แต่กังวลผู้ผลิตหันใช้สารทดแทน หวั่น คนติดหวาน เฝ้าระวังขนมกรุบกรอบแนวโน้ม ทวีความหวาน สธ.เร่งยกร่างพ.ร.บ.จำกัดโฆษณาขนมในกลุ่มเด็ก

                    ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าเด็กเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มที่สูงขึ้นไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เมื่อดูข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ไทยอยู่อันดับ 3 ในอาเซียน ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดเดือนก.พ.2566 พบแนวโน้มเด็กไทยอ้วนมากอายุระหว่าง 6-14 ปี มีร้อยละ 13.4 กลุ่มเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะอ้วนร้อยละ 13.2 ถือว่าค่อนข้างสูง และในเด็กกลุ่ม 0-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนขึ้นจากร้อยละ 4-5 เป็นร้อยละ 9-10 ซึ่งจากการเก็บข้อมูล เด็กวัยนี้ดื่มนมแม่ลดน้อยลง

                    รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) คาดการณ์ว่าภาวะน้ำหนักเกิน และอ้วนในประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จะสูงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2573 โดยกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน ความดัน เริ่มต้น มาจากเด็กที่อ้วนมาก่อน ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลกับสุขภาพ

                    อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ทำงานประสาน กับหลายภาคส่วนเพื่อหยุดยั้งโรคอ้วน ทั้งกระทรวงการคลังทำงานเรื่องภาษี สสส. เอ็นจีโอ ภาคเอกชน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน ซึ่งบทบาทสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขคือการสร้างความรอบรู้ ใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อเลือกอาหารบริโภค นอกเหนือเรื่องการกินแล้วยังได้ส่งเสริมการออกกำลังกาย นอกจากนี้ กระทรวงฯกำลังอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการทำการตลาด ของขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มในกลุ่มเด็ก ขณะนี้อยู่ในช่วงทำประชาพิจารณ์ คาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นความชัดเจนของ พ.ร.บ.ออกมา

                    “ในอนาคตกำลังหารือว่าคนที่บริโภค หวานน้อยลง แล้วไม่เกิดโรค จะได้เฮลท์พอยต์ ไปใช้เรื่องลดเบี้ยประกันชีวิต หรือได้เงินสด กำลังพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น ภายในปีหน้าน่าจะใช้ได้ ซึ่งมีตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่ทำสำเร็จแล้ว”

                    ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานเครือข่ายไม่กินหวาน กล่าวว่า หลังจากที่ประกาศใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีความหวาน พบว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาล มีการปรับตัว 3 แบบ คือ 1.ลดปริมาณน้ำตาลลง 2.ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใส่น้ำตาลน้อยลง ลดขนาดลงเพื่อจะได้เสียภาษีน้อยลง 3.ลดน้ำตาลแต่ใช้สารทดแทนความหวานแทน เช่น หญ้าหวาน แต่ที่นิยมใช้กันมากสุดเวลานี้คือใส่ ซูคราโลส (Sucralose) ซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับน้ำตาลซูโครส (sucrose) โดยทำกระบวนการ ให้คล้ายกับกาเฟอีนที่ผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งนี้ทางเครือข่ายพอใจกับการปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มใน 2 ข้อแรก แต่ในหัวข้อที่ 3 ยังทำให้คนติดรสหวาน ซึ่งนำมาไปสู่โรคอ้วนได้

                    ทพญ.ปิยะดากล่าวถึงว่าโครงการลดอ้วนจะไม่สำเร็จ เพียงแค่เก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม แต่เราต้องการให้คนไทยลดปริมาณการบริโภคลง ซึ่งล่าสุดเราพบว่าปริมาณน้ำตาลที่หายไปจากเครื่องดื่ม จากการมอนิเตอร์ทั้งประเทศกลับไปเพิ่มในกลุ่มขนมแทน  อาทิ เจลลี่ ทอฟฟี่ ซึ่งมีน้ำตาลเยอะ ทางเครือข่ายฯมีแนวคิด หาแนวทางสนับสนุนทำขนมทางเลือกสุขภาพ มากกว่าจะเน้นแป้งเป็นหลัก ยกตัวอย่างขนมกรุบกรอบมันฝรั่งแต่จริงๆเป็นแป้งมันฝรั่ง ขณะที่มันฝรั่งแท้จะมีราคาแพงกว่า “มันฝรั่งที่ขาย ต้องอ่านฉลากจะระบุว่าเป็นแป้ง หรือ มันฝรั่งจริง เป็นชนิดทอดหรืออบ ซึ่ง มันฝรั่งจริงจะมีราคาแพง แต่ความแพง เป็นสิ่งที่ดีเพราะขนมไม่ใช่อาหารหลัก”

                    ผศ.ดร.สิรินทร์ยา พลูเกิด อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิเคราะห์นโยบายรัฐ เพื่อจัดการภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กไทย ตามกรอบชุดคำแนะนำเชิงนโยบายองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ประเทศไทยจัดการปัญหาโรคอ้วนได้ดีในหนึ่งเรื่องตามที่ WHO แนะนำคือการดูแลหญิงตั้งครรภ์ก่อนตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ และการผลิตข้อมูลโรคอ้วนในเด็กอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งการผลักดันให้เกิดประสิทธิผล ลดโรคอ้วนในเด็ก WHO แนะนำว่า ต้องปรับโครงสร้างเชิงผู้นำระดับสูงให้เห็นความสำคัญ นำประเด็นลดโรคอ้วนในเด็กไทย เป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งจากการทำวิจัยในปีดังกล่าว ยังไม่พบว่า มีงบประมาณลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

                    ผศ.ดร.สิรินทร์ยา กล่าวถึงผลการสำรวจผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในตลาด มีการพิจารณาผลิตภัณฑ์อาหารตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ และ Healthier Choice ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารที่พิจารณาตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ได้มี 17,030 ผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาดในเด็กได้ (ผ่านเกณฑ์) มีแค่ 10% และ เกณฑ์ Healthier Choice สามารถวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ได้ 12,280 ผลิตภัณฑ์ พบว่า 88% ไม่เข้าเกณฑ์ ที่จะได้ Healthier Choice อย่างไรก็ตามยังได้พิจารณาผลิตภัณฑ์ของอาหารแปรรูป พบว่าเกือบ 80% เป็นกลุ่มที่แปรรูปสูง ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ขนมกรุบกรอบ ทอฟฟี่ เครื่องดื่ม เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code