ห่วงเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ไม่กลับไปเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ พบว่ามีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ที่บริเวณชุมชนโค้งรถไฟยมราช โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดโครงการ "กู้วิกฤตส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน" เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เด็กมีความพร้อมป้องกันสุขภาพจากโรคโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอม และสนับสนุนชุดอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง พร้อมฉายภาพความไม่พร้อมของพ่อแม่ผู้ปกครองในครอบครัวยากจนในชุมชนแออัด ที่เปิดเทอมครั้งนี้พวกเขายังขาดรายได้ ตกงาน แต่หวังให้บุตรหลานได้ กลับไปเรียนไม่ต่างจากผู้ที่มีครบถ้วนสมบูรณ์
น.ส.ทองพูล บัวศรี หรือ "ครูจิ๋ว" ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เล่าว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มูลนิธิได้นำอาหารแห้งทั้งข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ ลงแจกชุมชนทุก 3 สัปดาห์ ปัจจุบันเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือมีทั้งที่เร่ร่อนชั่วคราว กลุ่มเร่ร่อนต่างด้าว โดยในชุมชนโค้งรถไฟยมราชมีเด็กทั้งสิ้น 200 กว่าคนที่ด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และมีฐานะยากจนจนต้องช่วยหารายได้ เลี้ยงดูครอบครัวและค่าเช่าบ้าน ตรงนี้แม้จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่กลับพบว่าเด็กกำลังหลุดออกจากการศึกษาอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความยากจน ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกขาดแคลน แตกต่างจนไม่อยากไปโรงเรียน
"เด็กที่ขึ้นป.4 ต้องมีชุดลูกเสือ ยุวกาชาด แล้วเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่ไปโรงเรียน เพราะชุดหนึ่งราคา 1,400-1,600 บาท ชุดมีเครื่องประกอบเยอะแล้วราคาก็ขึ้นไปตามเบอร์ ถ้าเด็กเปิดเรียนแล้วไม่มีชุด เขาก็ไม่อยากไป ไม่ไปครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง สาม ก็ตามมา เรื่องนี้แม้อาจดูเล็กน้อย แต่ยิ่งใหญ่และสำคัญในความรู้สึกของเด็กๆ และทำให้พวกเขาไม่อยากไปโรงเรียน" ครูจิ๋ว กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา และเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกจากโรงเรียนและมีความเสี่ยงไม่ใช่แค่ยากจน แต่มาจากครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยจากการลงพื้นที่ในช่วง 1-2 เดือนนี้ พบว่าครอบครัวของเด็กมีรายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้เลย ยิ่งเมื่ออยู่ในพื้นที่แคบจำกัดภายในบ้าน เด็กๆ จึงเลี่ยงหลบความเครียดได้ยาก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ มักยังไม่ปรากฏฐานข้อมูลของเด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบาง
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีเด็กเปราะบางมากที่สุดของประเทศ ทั้งเป็นเด็กยากจนในชุมชนแออัด ริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน เด็กที่ทำงานบนท้องถนน ไซต์คนงานก่อสร้าง แรงงานนอกระบบที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ซึ่งด้วยลักษณะเป็นคนจนเมือง ขาดแหล่งธรรมชาติเป็นที่พึ่งพาจิตใจเหมือนต่างจังหวัด เด็กส่วนใหญ่จึงออกมาใช้ชีวิตกลางท้องถนน ผูกพันชีวิตไว้ด้วยการหารายได้
กสศ. ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องเร่งเข้าถึงเด็กกลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับความช่วยเหลือดูแลอย่างทั่วถึง จึงทำโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้ สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจข้อมูลเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลเด็กรายบุคคล เพื่อให้ทราบถึงความต้องการความช่วยเหลือในด้านการศึกษา มีจุดเน้นสำคัญคือขยายความร่วมมือกับกลไกภาคประชาสังคม
โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือ ทุนเสมอภาค โดย กสศ.เป็นรูปแบบทุนที่ กสศ. มอบให้กับบุตรหลานในครอบครัวยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน เติมเต็มความช่วยเหลือเด็กให้เฉพาะเป็นรายบุคคลนอกเหนือจากเงิน อุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เด็กมีทุนเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง และโรงเรียนมีงบประมาณจัดกิจกรรม พัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนยากจน