ห่วงเด็กลอกการบ้านผ่านสื่อออนไลน์ แนะปรับวิธีสอน – เพิ่มกิจกรรม
ห่วงเด็กลอกการบ้านผ่านสื่อออนไลน์ นักวิชาการแนะปรับวิธีสอนเด็ก – เพิ่มกิจกรรม
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลวิจัยของ child watch เรื่องวงจรชีวิต “เด็กไทย 1 วันทำอะไรบ้าง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า เด็กไทย 1 ใน 3 ถูกสื่อโซเชียลมีเดียดึงเวลาไปจากครอบครัว กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เสียเวลาตั้งแต่ตื่นนอน 6-8 ช.ม. ไปกับสื่อออนไลน์ ขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อโรค “ขาลีบ ก้นใหญ่ มือยาว ปากจู๋ หูเล็ก” โดยขาลีบและก้นใหญ่ เพราะไม่ค่อยได้เดิน ไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากวันๆ เอาแต่นั่งเล่นมือถือ ส่วนมือยาว เพราะใช้นิ้วอย่างหนักกับการสไลด์หน้าจอและกดข้อความ ขณะที่ปากจู๋ เพราะไม่ค่อยได้พูดเอาแต่แชท และหูเล็ก เพราะมีไว้เสียบหูฟังอย่างเดียว
“ดังนั้น ครอบครัวจึงจำเป็นต้องชิงพื้นที่สื่อออนไลน์ ด้วยการหากิจกรรมทำร่วมกันกับลูกหลาน ขณะที่โรงเรียนเองจำเป็นต้องเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างกิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายให้ลูกศิษย์ โดยเฉพาะการเรียนการสอนต้องปรับให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กอยากเรียน เด็กจึงจะมีฉันทะในการเรียนรู้ และรักที่จะลงมือทำเอง ไม่ใช่เรียนลัดด้วยการลอกการบ้านลอกข้อสอบ ไม่เช่นนั้นต่อไปประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศตัดแปะ หรือ copy and paste กล่าวคือ ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างเดียวเพราะคิดไม่เป็น” นายอมรวิชช์กล่าว
ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวต่อว่า หากทุกฝ่ายช่วยกัน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากสื่อออนไลน์ เช่น ปัญหาการลอกการบ้านเพื่อนผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบไฮเทค ลอกการบ้านผ่านไลน์ ผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ส่งผลให้เด็กเรียนได้แต่ไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีองค์ความรู้ หรือเด็กสมาธิสั้น ซึ่งหากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การโดดเรียนก็จะลดลงตามได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด