ห่วงเด็กกลืนยาสีฟันเสี่ยงฟันตกกระ

/data/content/24878/cms/e_degknort3489.jpg


          "กรมอนามัย"ห่วงเด็กเล็กชอบกลืนยาสีฟัน เสี่ยงฟันตกกระ ผิวฟันไม่สวยในอนาคต เหตุระบบกลืนบ้วนยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนบางคนตั้งใจกลืนเพราะถูกใจรสชาติ กลิ่น สี กรมอนามัยเผยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ กลืนยาสีฟันมากกว่าครึ่งหนึ่ง เด็กอายุ 3 – 6 ขวบ กลืนถึง 1 ใน 3 เตือนพ่อแม่ดูแลลูกทุกครั้งขณะแปรงฟัน บีบยาสีฟันให้เหมาะสมกับวัย


          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กเล็กๆ มักมีพฤติกรรมในการกลืนยาสีฟันขณะเวลาแปรงฟันเป็นประจำ เนื่องจากระบบการกลืนยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถบ้วนยาสีฟันออกได้หมด ขณะที่เด็กบางคนยังตั้งใจกลืนเพราะถูกใจรสชาติ กลิ่น และสีสัน ที่ผู้ผลิตผสมลงไปเพื่อจูงใจให้เด็กชอบแปรงฟันมากขึ้น ซึ่งการกลืนยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดฟันตกกระ เป็นปัญหาด้านความสวยงามของผิวฟันตามมา ทั้งนี้ พฤติกรรมการกลืนยาสีฟันแบบไม่ตั้งใจมักขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และปริมาณยาสีฟันที่ใช้ โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีจะกลืนยาสีฟันมากกว่าครึ่งหนึ่ง และเด็กอายุ 3 – 6 ปี จะกลืนยาสีฟันประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณยาสีฟัน


          นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องดูแลเด็กทุกครั้งที่แปรงฟัน เพื่อควบคุมการบีบยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย คือ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ให้ใช้ยาสีฟันในปริมาณแค่แตะพอชื้น ส่วนเด็กอายุ 3 – 6 ปี ให้ใช้ปริมาณครึ่งเซนติเมตรหรือเท่าเมล็ดข้าวโพด อย่างไรก็ตาม แม้เด็กจะสามารถแปรงฟันได้เอง แต่อาจไม่สะอาดพอ ผู้ปกครองจึงควรแปรงฟันซ้ำให้อย่างน้อยวันละครั้ง และควรเลือกยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เหมาะสมตามอายุเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจทันตสุขภาพระดับประเทศ พ.ศ. 2555 พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี มีฟันผุร้อยละ 51.7 และเด็กอายุ 5 ปี มีฟันผุร้อยละ 78.5


          “เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 500 ppm เด็กอายุ 3 – 6 ปี ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 500 – 1,000 ppm และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 ppm แต่ปัจจุบันไม่มีกฎหมายควบคุมให้ผู้ผลิตยาสีฟันแสดงปริมาณสารที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์ ยาสีฟันบางยี่ห้อจึงไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลาก แต่หากผู้ปกครองต้องการทราบปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับเด็ก สามารถดูข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กกลุ่มพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตสุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข หรือโทรศัพท์ 02-590-4215” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code