ห่วงห้างฯ พื้นที่เสี่ยงแพร่เชื้อมือเท้าปาก

/data/content/24950/cms/e_acdfhmopqs27.jpg


          “กรมควบคุมโรค”ห่วงห้างสรรพสินค้าอาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคมือเท้าปากในเด็ก เหตุผู้ปกครองมักพาบุตรหลานไปพักผ่อนหลังเลิกเรียน แนะหมั่นทำความสะอาดลดความเสี่ยงการแพร่กระจาย


          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนเป็นฤดูการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มระบาดมากกว่าปีก่อนๆ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 มิ.ย. พบผู้ป่วยแล้ว 23,671 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในเด็กอายุ 1 ขวบ โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ เชียงราย รองลงมา คือ ระยอง แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ และ จันทบุรี จึงมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ประสานกับ สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) และ กทม. ให้เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ และ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในการป้องกันโรค พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในสถานที่ที่เด็กเล็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก


          “ที่น่าห่วงคือห้างสรรพสินค้า เพราะเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนหรือช่วงวันหยุดผู้ปกครองบางส่วนมักจะพาบุตรหลานไปพักผ่อน เล่นเครื่องเล่นบริเวณศูนย์เด็กเล่น หรือรับประทานอาหารตามห้างสรรพสินค้า ทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงอีกแห่งหนึ่งในการระบาดได้ ห้างจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบริเวณที่มีเด็กๆ มาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น บริเวณศูนย์เครื่องเล่น ศูนย์อาหาร และห้องน้ำ เป็นต้น” อธิบดี คร.กล่าว


         นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ห้างสรรพสินค้าควรดำเนินการทำความสะอาด 4 มาตรการ ดังนี้ 1.บริเวณศูนย์เครื่องเล่น 2. มาตรการดูแลบริเวณศูนย์อาหาร 3.มาตรการดูแลบริเวณห้องน้ำ และ 4.มาตรการดูแลบริเวณทั่วไป แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลบริเวณทั่วไปของห้างสรรพสินค้า ทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสปริมาณมาก เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ที่กดลิฟท์ ด้วยสบู่ ผงซักฟอก แล้วเช็ดทำความสะอาด หรือน้ำยาสำหรับทำความสะอาดทั่วไป เป็นต้น


          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) สามารถติดต่อได้ง่าย ทางปากโดยตรง โดยเชื้ออาจติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากพบมีเด็กในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้พักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น อย่างไรก็ดี หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หายใจหอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่รับประทานอาหารและนํ้า ขอให้รีบพาไปพบแพทย์


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code