ห่วงวิกฤตตั้งครรภ์ แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สพฉ.แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นภาวะวิกฤตในแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เผยเป็น 1 ใน 6 โรคฉุกเฉินที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. แบ่งโรคฉุกเฉินเร่งด่วนออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ การบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุจราจร ภาวะวิกฤตในทารกแรกเกิด และภาวะวิกฤตในแม่ระหว่างตั้งครรภ์
ทั้งนี้ ภาวะวิกฤตในแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มโรคที่ สพฉ. มีความเป็นกังวล เพราะการตั้งครรภ์ทุกครั้งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่น้อยกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี นอกจากนี้แม่ที่เป็นโรคประจำตัวอาทิ หัวใจ หอบหืด ลมชัก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ที่ต้องได้รับยารักษาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมทั้งแม่ที่เคยมีประวัติการแท้งลูก คลอดลูกก่อนกำหนดก็ต้องระมัดระวังในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์เป็นพิเศษ ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง เช่น การติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่จะทำให้แม่มีความดันเลือดสูงมาก และจะทำให้อวัยวะหลายระบบล้มเหลว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนจะทำให้มารดาและทารกเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่ภาวะครรภ์เป็นพิษจะพบในแม่ที่ตั้งท้องเป็นครั้งแรกมากกว่าแม่ที่ตั้งท้องเป็นครั้งที่สอง จะตรวจพบได้หากมีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
สังเกตอาการได้ดังนี้ ปวดศีรษะรุนแรงเนื่องจากภาวะความดันโลหิตที่ขึ้นสูง ตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงเป็นจุดๆ หรือเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน แม้ว่าจะเป็นอาการแพ้ท้องโดยทั่วไปก็ตาม มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ต้องระวังอุบัติเหตุอื่นๆที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
ผู้พบเห็นหรือประสบเหตุต่างๆ จะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งหากผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ยังมีสติอยู่ ผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายตั้งฉากกับพื้นเพื่อให้มดลูกตกไปทางซ้ายไม่กดทับหลอดเลือดดำใหญ่กลางท้องเลือดจะได้ไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น และหากพบว่าผู้ตั้งครรภ์มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการช่วยเหลือด้วยการฟื้นคืนชีพ (cpr) เช่นเดียวกับผู้ป่วยอื่นๆ พร้อมกับจัดท่าผู้ตั้งครรภ์ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินให้นอนหงายและควรให้มดลูกกดทับหลอดเลือดใหญ่กลางท้องให้น้อยที่สุด โดยผู้ช่วยเหลือควรมี 2 คน โดยคนหนึ่งนั่งฝั่งขวามือของผู้ป่วย ใช้มือซ้ายดันมดลูกออกไปทางซ้ายมือของผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงรั้งสะโพกบริเวณปีกกระดูกเชิงกรานไว้เพื่อไม่ให้ตัวผู้ป่วยเคลื่อนไปด้วย ส่วนผู้ช่วยเหลืออีกคนหนึ่งจะต้องทำ cpr โดยกดในตำแหน่งที่สูงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย โดยกดนวด 100 ครั้งต่อนาที หรือตามจังหวะเพลงสุขกันเถอะเรา จนกว่าทีมกู้ชีพจะเข้ามาช่วยเหลือ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์