ห่วงร่างกฎหมายอุ้มบุญ ตามเทคโนโลยีไม่ทัน

          นักวิชาการ ห่วงร่างกฎหมายอุ้มบุญตามเทคโนโลยีไม่ทัน-ผลักบริการเลี่ยงกฎหมาย-หญิงด้อยโอกาสไม่ได้รับการคุ้มครอง จัดเวทีสาธารณะถกรอบด้าน สกัดเป็นข้อเสนอภาครัฐทบทวนให้รัดกุม-ครอบคลุมสิทธิ์-ทันสถานการณ์มากขึ้น


/data/content/25817/cms/e_afjqwxy13568.jpg


          เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเวทีสาธารณะ “กฎหมายอุ้มบุญ: เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์กับความเป็นธรรมทางเพศ” ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า จากข่าวความขัดแย้ง และคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นความก้าวหน้าและแพร่หลายของธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีนี้ในไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากช่องว่างทางกฎหมาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงพยายามผลักดัน ร่าง พรบ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ…. ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว แต่เมื่อพิจารณาชื่อและเนื้อหาร่าง พรบ. โดยละเอียด พบว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ กำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมไม่ให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องในทางที่ไม่ถูกต้อง ให้น้ำหนักกับการห้ามและลงโทษบริการเทคโนโลยีนี้เพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจ ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ต้องเป็น “สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่านั้น


          “จะเห็นว่าขอบเขตเนื้อร่างกฎหมายมีความจำกัด สังคมยังมีคำถามว่า การห้ามไม่ให้มีบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดำเนินการในรูปธุรกิจ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด และอาจจะผลักให้บริการนี้หลบเลี่ยง อยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย นำไปสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยมีค่าตอบแทนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ถูกละเลย ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ อีกทั้งการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจำกัดผู้มีสิทธิใช้เทคโนโลยีนี้ไว้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลกลุ่มอื่นที่ต้องการมีบุตรหรือไม่ อาทิ คู่ชีวิตที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือหญิงหรือชายที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เวทีสาธารณะนี้ จะนำเสนอภาพสถานการณ์ที่รอบด้าน รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทบทวน ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายนี้ให้รัดกุม เท่าทันสถานการณ์ และครอบคลุมโอกาส สิทธิ หน้าที่ และการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม” ผศ.ดร.สุชาดา กล่าว


 /data/content/25817/cms/e_acehjlnwxy59.jpg          รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีมาตั้งแต่ปี 2520 หรือ 37 ปีแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ห้ามไม่ได้ จึงควรมีกฎหมายให้ความเป็นธรรม อาจเรียกว่า “กฎหมายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” ครอบคลุมมากกว่าการอุ้มบุญ ควรขยายสิทธิ์อนามัยเจริญพันธุ์คนที่ต้องการมีลูกและคนที่ต้องการท้องแทนอย่างเป็นธรรม มากกว่าจำกัด หลักการคือผู้หญิงต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจจากข้อมูลที่รอบด้านที่สุดด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ตามมา มีหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ อาทิ กระทรวงสาธารณะสุข คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องพิจารณาว่าสถิติการเกิดของไทยต่ำ ผู้หญิงที่มีบุตรยากควรได้รับการรักษาและเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ นักกฎหมายต้องเท่าทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเร็วมาก วิธีการออกกฎหมายที่เน้นห้ามปราบ ควบคุม ลงโทษนั้นล้าสมัย ควรมองว่ามีวิธีการทางกฎหมายช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิงได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้หญิงจน และจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงซึ่งมีร่างกายที่สามารถผลิตมนุษย์ได้ โดยเฉพาะกรณีผู้หญิงที่ต้องการมีลูกแต่หาญาติท้องแทนไม่ได้ หญิงรักหญิง หรือผู้หญิงเป็นหมัน/ มีลูกยาก จะสามารถมีลูกได้หรือไม่


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code