ห่วงภาวะร้อนจัดคนกรุงเสี่ยงป่วย โรค”อาหารเป็นพิษ-ลมแดด”ชี้รุนแรงถึงตายได้

 

ห่วงภาวะร้อนจัดคนกรุงเสี่ยงป่วย โรค"อาหารเป็นพิษ-ลมแดด"ชี้รุนแรงถึงตายได้

 

น.พ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.เป็นช่วงที่ร้อนมาก และอาจก่อให้เกิดโรคที่มากับความร้อน โดยเฉพาะอาหารเป็นพิษมักจะมาเป็นอันดับแรก เพราะอาหารจะบูดและเสียง่ายในหน้านี้ ดังนั้น ควรกินอาหารที่ปรุงสุข ดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว หรือ 2 ลิตร จากเดิมวันละ 8 แก้ว นอกจากนี้ยังมีโรคผิวหนังที่เกิดจากความอับชื้นของเสื้อผ้า โดยเฉพาะในร่มผ้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเชื้อรา กลาก เกลื้อนด้วย ขณะเดียวกันฝุ่นละอองที่พัดมากับลมนั้นจะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนมากจนเกินไป หรือเกิดภาวะขาดน้ำ

แต่ละโรคจะเกิดในภาวะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และการอยู่ท่ามกลางแสงแดดนานแค่ไหน แต่ภาวะที่รุนแรงที่สุดและเสี่ยงเสียชีวิตคือโรคลมแดด จะมีอาการเป็นลม ตัวร้อนจัด ปราศจากเหงื่อ บางรายอาจชัก และเสียชีวิตได้ในที่สุด เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด หรืออาจพบได้ในคนที่แข็งแรง อย่างการออกกำลังที่หักโหมเกินไป รวมไปถึงการฝึกทหารเกณฑ์ก็ต้องระวัง เพราะบางรายอาจเกิดภาวะดังกล่าวได้ สิ่งสำคัญไม่ควรออกแดดจัด หรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหักโหมนานเกิน 1-2 ชั่วโมง

หากพบผู้ป่วยให้พาเข้าในที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code