ห่วงพัฒนาการเด็กไทยถดถอยเพิ่มขึ้น

หมอเด็กแนะ หากขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์จากคุณพ่อคุณแม่ อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูก


ห่วงพัฒนาการเด็กไทยถดถอยเพิ่มขึ้น thaihealth


กลายเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากขึ้น สำหรับพัฒนาการของเด็กไทยในยุคแห่งความเจริญ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา และการคิดวิเคราะห์ที่กำลังถดถอยลงไปมาก ทำให้เด็กยุคใหม่มีปัญหาด้านการสื่อสาร พูดช้า และรับมือกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ได้ไม่ดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นประเด็นที่มีนักวิชาการ และคุณหมอหลาย ๆ ท่านออกมาพูด และเสนอทางออกกันอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เกิดความเป็นห่วงใยพัฒนาการเด็กไทยที่กำลังถดถอยจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า อยู่เฉยๆ กันไม่ได้แล้ว


นพ.พงษ์ศักดิ์ เปิดเผยว่า เด็กไทยในยุคที่สื่อไฮเทคต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้พัฒนาการเด็กไทยค่อยๆ ถดถอยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาพัฒนาการทางด้านภาษาที่ช้าลงในเด็กปกติ เพราะขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม โดยเฉพาะขาดปฏิสัมพันธ์จากคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากมีหลายบ้านปล่อยให้เด็กดูแต่โทรทัศน์ หรือใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงเด็กตลอดทั้งวัน การให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงชาวต่างด้าวที่ไม่โต้ตอบทางภาษา เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้าลง ดังนั้น คุณแม่ควรพูดคุยกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือ เล่านิทาน หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ดูการตอบสนองของลูก แล้วเด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก


 “แม้ปัจจุบันจะมีสิ่งอำนวยต่อพัฒนาการด้านภาษามากขึ้น เช่น สื่อการสอนเพื่อการเรียนรู้เรื่องภาษา หรืออื่นๆ แต่ก็ไม่ดีเท่าคุณพ่อคุณแม่สอนเอง เพราะคุณพ่อคุณแม่จะรับรู้ว่าลูกเข้าใจหรือไม่เข้าใจ มีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน ซึ่งลูกเองก็เรียนรู้จากทั้งคำพูด ท่าที และปฎิกิริยาการตอบสนองของคุณพ่อคุณแม่ตามบริบทร่วมกัน” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรมเผย


ส่วนอีกปัญหาที่พบได้บ่อย คือ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจพัฒนาการของลูกในแต่ละวัย และไม่เข้าใจธรรมชาติของลูก พัฒนาการของเด็กอาจเร็วช้าต่างกันได้ถึง 4 เดือน บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า บางคนชอบวิ่ง บางคนชอบอยู่เฉยๆ คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบตั้งความหวังเกินกว่าธรรมชาติของลูกก็จะผิดหวัง และสร้างความกดดันให้กับลูกแบบไม่รู้ตัว ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนความคิดโดยหันมามอง และทำความเข้าใจลูกว่าลูกถนัดอะไร ลูกสนใจอะไร เมื่อเข้าใจลูกแล้วต้องเข้าใจตัวเอง อย่างเช่นตัวเองเป็นคนหงุดหงิดง่ายมาก จะต้องรู้จักควบคุมตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถควบคุมลูกได้ และอีกปัญหาหนึ่งคือ แม้บางทีคุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจทั้งลูกและตนเอง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันได้ จึงต้องหันไปพึ่งคนอื่นให้สอนลูกจนลืมว่าคนสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง


ทั้งนี้ นพ.พงษ์ศักดิ์ ให้แนวทางต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีแรก หรือช่วง 1,365 วันแรกของชีวิต ถือเป็นนาทีทอง พ่อแม่ต้องพยายามหาโอกาสให้ลูกในการเรียนรู้ให้มากที่สุด ให้ลูกได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อคงสมองส่วนที่ทำงานเอาไว้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตลูกจะเติบโตไปทำอะไร ซึ่งวิธีง่ายๆ คือ ส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกผ่านกิจวัตรประจำวัน โดยดูความเหมาะสมตามวัย เริ่มจาก วัยเริ่มเดิน เด็กชอบที่จะเคลื่อนไหว อาจส่งเสริมพัฒนาการด้วยการหากิจกรรมนอกบ้าน ในวัยเริ่มพูด ให้ชวนลูกพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้พูดโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่เวลาพาลูกไปเที่ยวก็ชวนลูกคุย ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งรอบตัว เช่น นกใหญ่ นกเล็ก สีฟ้า สีเขียว ลูกก็จะคิดตาม และเกิดการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แต่การสอนด้วยการพูดอย่างเดียวคงไม่พอ ควรให้ลูกได้คิด ได้ทำด้วยตัวเอง อีกอย่างที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก คือการเล่น ของเล่นไม่ว่าจะถูกหรือแพง สำคัญคือ พ่อแม่ต้องรู้จักเล่นกับลูก ขณะที่เล่นก็ชวนให้ลูกคิดไปด้วย มองหาโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง


 “คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถส่งเสริมไอคิวให้ลูกมีความฉลาดได้ด้วยการฝึกให้ลูกเกิดการคิดวิเคราะห์ โดยวิธีการง่ายๆ อย่างเช่น การตั้งคำถามปลายเปิด เปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น ของเล่นชิ้นนี้ทำไมถึงทำงานแบบนี้ สัตว์แต่ละชนิดที่ลูกเห็นแตกต่างกันอย่างไร นี่คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ถ้าลูกไม่เคยคิด โตขึ้นมาก็จะคิดไม่เป็น ขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องฝึกให้ลูกรู้จักการวางแผน เช่น ตื่นเช้ามาวันเสาร์ ถามลูกว่า ถ้ามีเวลา 1 ชั่วโมงลูกจะทำอะไรก่อนดี วิธีนี้จะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักวางแผน พ่อแม่ช่วยลูกได้ด้วยวิธีการชี้แนะ ไม่ควรบอกหรือจัดการทุกอย่างในชีวิตลูกทั้งหมด เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา บางครั้งอาจต้องจำลองสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น ถ้าวันหนึ่งมีคนเข้ามาหลอกลูก บอกว่าแม่ให้มารับ ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ลูกจะทำอย่างไร ถ้าไปเจอสถานการณ์จริงจะได้รู้จักแก้ไขปัญหาได้ถูก” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรมทิ้งท้าย


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code