ห่วงพฤติกรรมเด็กไทยรับสื่อไม่เหมาะสม
วธ.ห่วงพฤติกรรมเด็กไทย เร่งปลูกจิตสำนึกความซื่อสัตย์-ไม่คดโกง เผยยอดร้องเรียนผ่าน 1765 สายด่วนวัฒนธรรม มีเด็กรับสื่ออินเตอร์เน็ตไม่เหมาะสมมากที่สุดทั้งเรื่องเพศ การพนัน เตรียมขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนแล้ว
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานผลการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในมิติวัฒนธรรมจากสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักปลัด วธ. ซึ่งเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเด็กและเยาวชน อาทิ นายอมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยอนันต์ แก่นดี ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานมัธยมศึกษาตอนปลาย พลตำรวจโทสุกฤษฎ์ชัย อเนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นางเทพวัลย์ ภรณวลัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็กและเยาวชน พม. โดยได้รายงานผลการสำรวจสภาวการณ์ทางวัฒนธรรมประจำปี 2556 โดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด (สวจ.) ซึ่งทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศกว่า 90,000 คน ทั้งเด็กในระบบและนอกระบบการศึกษารวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงและต้องเร่งแก้ไขสำหรับพฤติกรรมของเด็กไทย มี 2 ประเด็น คือ การปลูกจิตสำนึกของการเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่คดโกง และการสร้างวัฒนธรรมใช้สื่ออย่างถูกต้องอย่างเหมาะสม ในส่วนของต้นทุนชีวิตที่ดีของเด็กซึ่งถือเป็นพลังด้านบวก คือ การรู้จักมารยาทในการกล่าวคำขอบคุณและขอโทษ รวมถึงการให้อภัยผู้ที่สำนึกผิด
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ หรือ 1765 สายด่วนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวกับความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมและกรณีสื่อไม่เหมาะสม ซึ่งตั้งแต่ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557 มีเรื่องร้องเรียน 1,491 เรื่อง โดยเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด 1.สื่ออินเทอร์เน็ต 1,308 เรื่อง อาทิ พบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมในประเด็นเพศ การพนัน และขัดต่อศีลธรรม 2.ร้านสถานประกอบการ 174 เรื่อง อาทิ เปิดร้านให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการก่อนและหลังเวลาที่ตามกฎหมายกำหนด ไม่มีใบอนุญาตประกอบการ หรือเป็นแหล่งมั่วสุม และ 3.ร้องเรียนประเด็นความประพฤติไม่เหมาะสม 5 เรื่อง อาทิ เล่นน้ำสงกรานต์ไม่เหมาะสม
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า จากปัญหาของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ที่ประชุมจึงเห็นชอบจัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ วธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนการกิจด้านการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7 ด้าน ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ครอบครัว การสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การให้เวลา การสร้างทักษะชีวิต การสร้างภูมิคุ้มกันและวัฒนธรรมการรับสื่อในครอบครัว 2.ยุทธศาสตร์สื่อ คุมพื้นที่สื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกันการรับสื่อแก่ครอบครัว 3.ยุทธศาสตร์โรงเรียน ลดพฤติกรรมเด็กกลุ่มเสี่ยง ลดบรรยากาศการแข่งขัน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ สร้างวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปัน วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ครูเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน สร้างภูมคุ้มกันและทักษะชีวิตให้กับเยาวชน
4.ยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชนทั่วไปฟื้นฟูศรัทธาที่มีต่อศาสนา ให้ศาสนากลับมาเป็นที่พึ่งของชีวิต 5.ยุทธศาสตร์เครือข่ายเยาวชน สร้างกลุ่มเยาวชนจิตอาสาที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเยาวชนไม่ให้ไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม และให้มีหลักทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทยในการดำเนินชีวิต 6.ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ของสังคมโดยรวม สร้างการเรียนรู้ของสังคมที่จะเป็นเบ้าหลอมการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีสำหรับเยาวชนต่อไป กระตุ้นให้สังคมทั้งสังคมลุกขึ้นมาปกป้องดูและลูกหลานของตน ไม่เพิกเฉย และ 7.ยุทธศาสตร์ภาคีวัฒนธรรม มีเป้าหมาย คือสร้างกลไกการจัดการความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการทำงานของ วธ.
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต