ห่วงพฤติกรรมดื่มรวดเดียว เสี่ยงช็อกดับ

ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


ห่วงพฤติกรรมดื่มรวดเดียว เสี่ยงช็อกดับ thaihealth


แฟ้มภาพ


"กรมควบคุมโรค" ย้ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดมีผลเสีย ดื่มมากในเวลาอันสั้นเสี่ยงเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากและในระยะเวลาสั้นๆ การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลาเฉลี่ย 45 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม จากการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่มช่วงแรก ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบาดเจ็บและพฤติกรรมรุนแรง


ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วงสับสนมึนงงและซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ และการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้นๆ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงอาจหยุดหายใจอันตรายต่อชีวิตได้


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าในรูปแบบใด ล้วนแต่มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์คนที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องยนต์ ที่นอกจากเป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากในแต่ละปี ยังก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวอุบัติเหตุความรุนแรง อันเกิดจากขาดสติและอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ 


จึงขอแนะนำประชาชนให้ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือหากจำเป็นต้องดื่มขอให้ระมัดระวัง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปรวดเดียว หรือปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์

Shares:
QR Code :
QR Code