ห่วงปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

ที่มา : กรมการแพทย์


ห่วงปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นภัยแฝงที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่หากมีอาการผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก เสี่ยงหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย บางรายเสียชีวิตแบบกะทันหันได้ หากพบว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทประชาชนควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งได้ตามลักษณะอาการแสดงมี 2 รูปแบบ 1. แบบเรื้อรังเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ มีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบเล็กลงหรือตีบตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกในช่วงที่ออกแรงหยุดพักแล้วดีขึ้น 2.แบบเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะและมีการอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยง จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจส่งผลให้บางรายเสียชีวิตแบบกะทันหันได้


นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งเป็น 2 รูปแบบตามลักษณะอาการคือ 1.แบบเรื้อรัง อาการลักษณะแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่จะเกิดขึ้นจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือดทำให้มีการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มักเกิดในบุคคลที่มีความเสี่ยงได้โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงรวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ โดยมีอาการบ่งชี้  เช่น แน่นหน้าอกคล้ายมีบางอย่างมากดทับรู้สึกร้าวไปกรามและทั้งแขนด้านซ้าย ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการออกแรงและอาการดีขึ้นเมื่อหยุดพักหรืออมยาใต้ลิ้น นอกจากนี้ยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ  2. แสดงอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เช่น อาการเกิดได้โดยไม่เลือกเวลา อาจมีอาการได้ในขณะทำงาน เล่นกีฬาหรือพักผ่อน


ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง มีเหงื่อออก ใจสั่น และปวดร้าวไปกรามสะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยจุกลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซึ่งเกิดจากมีการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด และมีลิ่มเลือดมาจับตัวบริเวณนั้นเมื่อลิ่มเลือดมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงทีไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตเฉียบพลันทันทีจากภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง


ดังนั้น หากพบว่ามีอาการบ่งชี้ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันควรรีบไป พบแพทย์ทันทีเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่พบผู้ป่วยหมดสติจากหัวใจวายการกู้ชีพเบื้องต้นโดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและนำส่งโรงพยาบาลในทันทีอาจจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ สำหรับการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยยา การขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน และการรักษาด้วยการผ่าตัดเบี่ยงเบนหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส

Shares:
QR Code :
QR Code