ห่วงชาวบ้านกินเห็ดพิษ ปีนี้ป่วยแล้วเกือบ 200 ราย
เตือนเลี่ยงเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก แม้ปรุงสุกพิษก็ไม่หาย ระบุภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ทดสอบพิษไม่ได้
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ช่วงฤดูฝนตั้งแต่พ.ค.ถึงปลาย ก.ย.ของทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่ามากิน แต่เนื่องจากมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มิ.ย.58 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 170 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 42.9 รับจ้างร้อยละ 25.9 และนักเรียนร้อยละ 12.4
นพ.โสภณกล่าวว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียก เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก อยู่ในกลุ่มเห็ดที่คล้ายกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่กินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนค่อนข้างแรง สำหรับช่วงที่เสี่ยงอันตรายที่สุดคือ ช่วงเห็ดยังดอกตูม เพราะเห็ดสกุลนี้ขณะดอกอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากจากเห็ดที่กินได้ และมีสารที่ทนความร้อน แม้จะปรุงสุกก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้
ส่วนภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบพิษ เช่น จุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด ช้อนจะไม่เปลี่ยนเป็นสีดำ นำไปต้มกับข้าวสาร หรือสังเกตรอยกัดแทะของสัตว์ วิธีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีเห็ดป่าชนิดมีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลือง ซึ่งมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากสังเกตด้วยตา ส่วนเห็ดหมวกจีน จะคล้ายเห็ดโคนขนาดเล็ก
ทั้งนี้ หลังกินเห็ดพิษแล้ว จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมตัวอย่างเห็ดพิษ และควรนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ใน 24 ชั่วโมงแรก แต่หลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว อาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นให้อาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว และรีบพบแพทย์ทันที
“ขอเตือนให้หลีกเลี่ยงเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน ลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากจะไม่สามารถทราบได้ว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงกินเห็ดพร้อมดื่มสุรา เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต