ห่วงคนวัยทำงานเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ห่วงคนวัยทำงานเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง thaihealth


แฟ้มภาพ


ประเทศไทยพบว่าปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานอายุ 20-29 ปี ที่น่าห่วงการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด


          เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าววันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด “Mental health in the workplace : จิตดี๊ดี…มีสุข…สนุกกับงาน”ว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานในทั่วโลกที่พบบ่อยคือโรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน ส่วนภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน สำหรับประเทศไทยพบว่าปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานอายุ 20-29 ปี ที่น่าห่วงการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และจากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าวัยทำงานโทรมาปรึกษาปัญหาทางจิตเวช 20,102 คน ความเครียดหรือวิตกกังวล 17,347 คน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน ปัญหาความรัก 4,776 คน ปัญหาครอบครัว 2,513 คน และซึมเศร้า 2,085 คน


          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ทางกรมฯได้พัฒนาแผนการดูแลสุขภาพจิตของคนไทยทุกกลุ่มวัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยแนวทางสร้างสุขทั้งในสถานประกอบการและชุมชนที่สามารถทำได้ง่าย คือการพอเพียงอย่างมีสติ และทำจิตอาสา ซึ่งการพอเพียงอย่างมีสติพึงพอใจในสิ่งที่มีจะทำให้เรารู้จักความพอดี มีความสุขกับชีวิตตามอัตภาพ ไม่ยึดติด และปล่อยวางได้ ขณะที่การทำจิตอาสาคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะในชุมชน หรือการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในองค์กร ด้วยการสร้างสุข คลายทุกข์ ร่วมจิตร่วมใจชวนกันทำดี ช่วยเหลือเพื่อนพนักงาน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และมีความสุขจากการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน.


 

Shares:
QR Code :
QR Code