ห่วงกลุ่มเด็กพิเศษ ขาดทักษะป้องกันโควิด-19 แนะดูแลใกล้ชิด
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครอง ผู้ดูแล เฝ้าระวังกลุ่มเด็กพิเศษอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปัญหาการสื่อสาร ขาดทักษะในการป้องกันโควิด-19 หวั่นเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กลุ่มเด็กพิเศษจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ และผู้ดูแลเด็กเนื่องจากเด็กอาจมีพฤติกรรมถดถอย เช่น ดื้อ โกรธ ต่อต้าน หรืออาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การใช้ภาษาไม่เข้าใจ การสื่อสารที่เป็นนามธรรม ต้องใช้เวลามากในการทำความเข้าใจคำสั่ง ปรับตัวได้ช้า ทำให้ขาดทักษะในการป้องกันระวังการติดเชื้อด้วยตัวเอง และถ้าเด็กอยู่บ้าน คนที่ดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดกับเด็กต้องระมัดระวังตนเอง เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อไปติดเด็กได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรณีที่เด็กพิเศษป่วยเป็นโควิด-19 จำเป็นต้องดูแลติดตามเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กพิเศษมีระดับการดูแลตัวเองที่แตกต่างกัน และต้องการผู้ดูแลที่แตกต่างกันด้วย หากเป็นเด็กพิเศษที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลจำเป็นต้องมีผู้ดูแลที่ทำหน้าที่ได้โดยเฉพาะ และเข้าไปดูแลได้บางเวลาในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน นอกจากนี้ ควรมีการปรึกษาทีมสหวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา เป็นต้นในการดูแลเด็กร่วมกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สำหรับเด็กพิเศษที่มีอาการด้านจิตเวชรุนแรง ก้าวร้าวรุนแรง อาการของโรคไม่สงบ ควรได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช
ทั้งนี้ วิธีการดูแลเด็กพิเศษสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ 1) สื่อสาร ให้ข้อมูลที่ง่ายเหมาะสมกับอายุและระดับความเข้าใจของเด็กด้วยตนเอง 2) สอนด้วยวิธีที่เด็กสนใจ เช่น ใช้ภาพหรือนิทานประกอบ 3) เด็ก ๆ อาจมีการเล่นหรือพูดถึงเรื่องที่น่ากลัวในกระบวนการทำความเข้าใจข้อมูล ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ชิด เพื่อทำให้รู้สึกมั่นใจ และคอยตอบคำถาม 4) คอยติดตามและสื่อสารข้อมูลกับครู พี่เลี้ยง และผู้ดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5) คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหรือสัญญาณของความเครียด เด็ก ๆ อาจต้องการความช่วยเหลือ หากมีความเครียดหรือกังวล 6) คอยเป็นที่ปรึกษา สร้างความมั่นใจให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและผ่านสถานการณ์ไปได้ 7) ในกรณีที่จะให้เด็กสวมหน้ากาก ถ้าเด็กไม่คุ้น อาจจะสร้างความคุ้นเคยให้เด็ก โดยให้ผู้ดูแลเด็กสวมให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือใส่ให้ตุ๊กตาที่เด็กเล่นอยู่ เพราะหน้ากากมีลักษณะที่ทำให้เด็กคุ้นเคยได้ง่าย วัสดุสร้างสัมผัสที่เด็กไม่รำคาญ หรือมีการให้แรงเสริมทางบวกถ้าเด็กใส่หน้ากากได้ อาจจะเป็นคำชมเชย ให้รางวัล และ 8) ในช่วงการระบาด เด็กพิเศษที่ต้องมารับการฝึกหรือบำบัดต่อเนื่องอาจถูกงดไป ทำให้ขาดช่วงการบำบัดไป แนะนำให้ผู้ดูแลฝึกที่บ้านก่อน