‘หุ่นสายช่อชะคราม’ จ.สมุทรสงคราม
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"หุ่นสายช่อชะคราม" โรงเรียนวัดเขายี่สาร ตอบสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้"
"เรียนพิเศษคือหนูไม่ได้เรียนมาตั้งแต่ ป.1 แล้ว หนูสามารถแบ่งเวลาได้เอาเวลาที่ว่างไปทำอย่างอื่น โดยที่ไม่ต้องเอาเวลาไปเรียนพิเศษเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น หนูก็สามารถเรียนตามเพื่อนๆ ทันได้ โดยเอาเวลาว่างไปทำอย่างอื่น" นี่คือคำพูดของ น้องแอนฟิลด์ ด.ญ.นันท์นภัส แสงนาค นักเรียนชั้น ป.6 หนึ่งในคณะ "หุ่นสายช่อชะคราม" ของโรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ)
โรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) ตั้งอยู่หมู่ 1 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม ก่อตั้งมาแล้วกว่า 93 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 96 คน ข้าราชการครู 5 คน ครูจ้างสอน 3 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทของลุ่มน้ำแม่กลอง จะมีการปลูกฝังให้เด็กมีทัศนคติที่ดีและเสริมสร้างทักษะชีวิตโดยการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนในห้องเรียนเสมอไป แต่สามารถทำให้เด็กหาเวลาว่างได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ นอกจากการเรียนได้ อย่างเช่น การเชิดหุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ต่อทฤษฎี พหุปัญญา โดยใช้หลักการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม กิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน ผสมผสานกับความสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถตอบสนองพัฒนาการเรียนรู้ 4Hs ได้แก่ 1.Head สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ 2.Heart สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม 3.Hand สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ 4.Health สร้างเสริมทักษะชีวิต ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ได้เป็นอย่างดี
คณะ "หุ่นสายช่อชะคราม" เริ่มก่อตั้งเมื่อ 9 ตุลาคม 2550 โดยคุณครูปาริชาติ นวลิมป์ ครูชำนาญการพิเศษ ผู้ฝึกสอน เล่าว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับการอบรมโครงการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการรณรงค์งดเหล้า ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับทุนสนับสนุน จำนวนเงิน 12,000 บาท เพื่อนำมาสานต่อให้แก่นักเรียน นี่คือจุดเริ่มต้นของคณะหุ่นสายคณะนี้
คุณครูปาริชาติ เล่าอีกว่า ได้คัดเลือกนักเรียนที่มีใจรักและสมัครใจในการฝึกซ้อมและเล่นหุ่นสาย เรื่องแรกใช้ชื่อตอนว่า "สายเกินไป" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของสุราและยาเสพติด โดยแสดงให้นักเรียนและ ผู้ปกครองได้รับชม เรื่องต่อมา เป็นเรื่อง "กลัวเกินเหตุ" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องไข้หวัดนก จากนั้นก็แต่งเรื่องตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้แต่งเรื่องไว้มากกว่า 30 เรื่อง
คุณครูปาริชาติ ยังเล่าต่อไปด้วยสีหน้าและน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า "ครั้งหนึ่งดิฉันและเด็กนักเรียนเคยได้มีโอกาสได้ไปแสดงละครหุ่นสายยี่สารเฉพาะพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มูลนิธิชัยพัฒนา อีกทั้งได้แสดงตามงานประเพณีต่างๆ รวมถึงได้รับเกียรติให้ไปแสดงในเทศกาลหุ่นสายอาเซียนเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรม ตลอดจนได้รับรางวัลจากงานมหกรรมกีฬาและนันทนาการ จากกรมพลศึกษา ปี 2554"
ตัวละครหุ่นสายเป็นหุ่นที่ให้เด็กๆ ร่วมกันออกแบบและตกแต่งตัวละคร โดยให้เขาได้คิดและออกแบบกันเอง ซึ่งทำให้พวกเขาได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุที่ทำมาจาก ไม้แคป่า เรซิ่น เปเปอร์มาเช่ หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น
"หากมีเวลาว่าง ดิฉันและเด็กๆ จะมานั่งออกแบบ ตกแต่งเสื้อผ้าหน้าตาของหุ่นด้วยตนเอง โดยเน้นสีสันสดใส ฉูดฉาด เพื่อดึงดูดสายตาและความสนใจจากผู้ชม" คุณครูปาริชาติพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มด้วยความภูมิใจในตัวลูกศิษย์ เรื่องการฝึกสอนนั้นอาศัยความสมัครใจของเด็กนักเรียน ใช้เวลาว่างช่วงพักเที่ยง หลังเลิกเรียน และวันหยุดในการฝึกซ้อม ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กอย่างแน่นอน อีกทั้งการแสดงหุ่นสายยี่สาร ยังทำให้เด็กๆ มีความกล้าแสดงออกและรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้มากขึ้น
นับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง ที่โรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) เล็งเห็นถึงความสำคัญนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายกฤตชัย อรุณรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามนโยบาย
"ผมได้ลงพื้นที่โรงเรียนวัดเขายี่สาร ผมมีความภาคภูมิในตัวผู้บริหาร ครู และนักเรียน ที่ได้นำนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมที่ดี ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียนเพิ่มขึ้นไป เหมาะสำหรับเป็นโรงเรียนนำร่องที่จะให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปเป็นต้นแบบ เพื่อการศึกษาไทยจะได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน"นายกฤตชัย กล่าวด้วยรอยยิ้ม
"การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ไม่เพียงแค่เป็นโครงการที่จัดตั้งเพื่อสนองนโยบาย แต่เป็นการประกันโอกาสให้โรงเรียนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น "คนดี คนเก่ง และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข"