“หิ้งพระ”แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กองควบคุมโรคติดต่อ” เผยไข้เลือดออกระบาด ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะชีวิตสังคมเมือง มีการสร้างแหล่งน้ำขัง ทำให้ยุงลายเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แนะแก้ไขลดจำนวนภาชนะน้ำขัง ชี้หิ้งพระ แก้วน้ำบูชาพระและแจกันใส่ดอกไม้ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ไม่ควรมองข้าม
ที่โรงแรม เรอเนสซองซ์ กรุงเทพฯ มีกิจกรรมให้ความรู้ ในหัวข้อ “ไข้เลือดออก ภัยเงียบของคนเมือง” โดยนพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทุกปีพลเมืองจากทั่วโลกติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ 390 ล้านคน และในปี 2558ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทย 144.953 ราย ซึ่งในปี2559 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อควบคุมโรคไม่ให้มียอดผู้ป่วยสูงเท่าปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเด็งกี่ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นเพราะลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรและมีการใช้ชีวิตแบบสังคมเมืองมากขึ้น อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวของประชากร และมีการเพิ่มขึ้นของยุงลาย จากการที่ผู้คนสร้างแหล่งน้ำขัง การคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“สำหรับความนิยมแก้ปัญหาโดยการพ่นหมอกควัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเมื่อสารระเหยหมดไปตามธรรมชาติ ยุงสามารถกลับมาได้ใหม่และสารเคมีอาจตกค้างในสิ่งแวดล้อมส่งผลอันตรายต่อคน ซึ่งการแก้ไขที่สำคัญ คือการลดจำนวนภาชนะน้ำขัง ซึ่งจุดที่ทุกคนไม่ค่อยนึกถึงคือบริเวณหิ้งพระในแก้วน้ำบูชาพระ แจกันใส่ดอกไม้ ทั้งนี้การให้ความรู้ในขณะนี้ในการให้ความรู้ในการกำจัดยุง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เด็กนักเรียน เพราะสอนง่าย และมีเวลา ในผู้ใหญ่นั้นเห็นว่าเป็นเรื่องยากในการให้ความรู้ เนื่องด้วยภาระการทำงานต่างๆ” นพ.เมธิพจน์ กล่าว
ด้าน ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวว่า เนื่องจากเชื้อเด็งกี่มี4 สายพันธุ์ดังนั้นคนๆนึงสามารถกลับมาเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4ครั้ง และมีโอกาสที่การติดเชื้อจะมีความรุนแรงขึ้นจากการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งพบว่าการติดเชื้อเมื่อก่อนพบมากในเด็ก แต่ในปัจจุบันกลับพบในผู้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้นทางองค์การอนามัยโลกจึงได้แสดงความเป็นห่วง โดยตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ.2563 จะต้องลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้ร้อยละ 25 และลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ร้อยละ50 โดยขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญและรณรงค์ให้มีการใช้วัคซีน ที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วใน13 ประเทศ และมีความปลอดภัยสูง จาก 15 การศึกษา ใน 15 ประเทศ โดยขณะที่มีการวิจัยมีผู้ได้รับวัคซีนถึง 29,000 คน