หายนะภัย ‘เชื้อดื้อยา’

ที่มา : หนังสือพิมพิ์แนวหน้า 


หายนะภัย 'เชื้อดื้อยา' thaihealth


แฟ้มภาพ


“ในอดีต..แผลเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ถึงตายได้ นี่ไม่ใช่การกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด..หลักฐานข้อหนึ่งที่ยืนยันเรื่องเล่านี้ คือภาวะ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” (Septicemia) จนเสียชีวิต ดังข้อมูลจากบทความ “ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)”


โดย พญ.สลิล ศิริอุดมภาส ระบุว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เกิดจาก “เชื้อแบคทีเรีย” ที่เข้าสู่ร่างกายในหลายช่องทาง อาทิ บาดแผลที่เปิดกว้าง หรือจากกระบวนการรักษา เช่น การสอดท่อช่วยหายใจ สอดท่อหลอดเลือดเพื่อให้อาหารและยาต่างๆ รวมถึงเมื่อมีสิ่งของแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย


ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเคยคร่าชีวิตมนุษย์ไปมากในทุกมุมโลก กระทั่งชายชาวสกอตแลนด์คนหนึ่งที่ชื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) ค้นพบตัวยามหัศจรรย์ “เพนิซิลลิน” (Penicillin) เมื่อปี 2471 มนุษยชาติจึงได้รู้จักคำว่า “ยาปฏิชีวนะ” เป็นครั้งแรก และวงการแพทย์มีการพัฒนาต่อยอดยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ มาตามลำดับ ซึ่งมันได้ช่วยปกป้องไม่ให้คนเราต้องตายกันง่ายๆ มากว่าหลายทศวรรษ ทว่าหลังจากนี้ ยาปฏิชีวนะทั้งหลายอาจจะไม่สามารถ “ต่อสู้” กับโรคร้ายได้อีกต่อไป เมื่อมีการค้นพบว่าเชื้อโรคทั้งหลายเริ่ม… “ดื้อ” ไม่เกรงกลัวฤทธิ์ยา!!!


“ก่อนที่เขาจะส่งตัวมา เขารักษามา 3 โรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย 930,000 บาท เพราะมีค่าอยู่ ICU ด้วย แต่เมื่อซักประวัติย้อนไป ซึ่งคุณแม่เขาบันทึกทุกครั้ง คือก่อน 3 ขวบ เด็กคนนี้สบายดีเพราะคุณแม่เลี้ยงที่บ้านเอง แต่พอเข้า 3 ขวบ เข้าโรงเรียนอนุบาลก็เริ่มป่วย คุณแม่บันทึกไว้ว่า เจ็บคอก็จะได้ ซิโทรแม็กซ์ (Zithromax) อันนี้เป็นบันทึก 3 ปี ไปพบแพทย์ 41 ครั้ง ได้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด 38 ครั้ง น้องคัดจมูกมีน้ำมูก แต่ได้ยา เซฟสแปน (Cefspan) ซึ่งเป็นยาที่แรงมาก ได้เกือบทุกครั้งเลย”


หายนะภัย 'เชื้อดื้อยา' thaihealthเรื่องเล่าจาก รศ.พญ.ดร.วารุณี พรรณวานิช วานเดอพิทท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี ในงาน “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี พ.ศ.2559”ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี ย่านทุ่งมหาเมฆ กทม. 18 พ.ย. 2559 เกี่ยวกับคนไข้รายหนึ่ง ที่ต้องบอกว่านี่เป็น “บทเรียนราคาแพง” และถือเป็น….“อุทาหรณ์” ของพ่อแม่ผู้ปกครอง!!!


รศ.พญ.ดร.วารุณี เล่าถึงคนไข้เด็กรายหนึ่งที่พ่อแม่พามารักษา ณ โรงพยาบาลเด็ก หลังรักษากับโรงพยาบาลเอกชนถึง 3 แห่ง แต่อาการไม่ดีขึ้น คนไข้เด็กรายนี้มีอาการไข้มาแล้ว 12 วัน อุณหภูมิ 39-40 องศาเซลเซียส ที่ผ่านมาแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ “ตัวแล้ว..ตัวเล่า” ทุกชนิดที่มีในโรงพยาบาลก็ยังไม่หาย ซ้ำร้ายอาการยัง “ทรุดหนัก” ถึงขนาด…ต้องย้ายไปนอน “ICU”!!!


ซึ่งเมื่อถามพ่อแม่เด็กว่าเป็นผู้ขอยาจากแพทย์หรือไม่? ทั้ง 2 ยืนยันพร้อมกันว่า “ไม่เคยขอ” แต่ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ ฝ่ายคุณหมอเองต่างหากที่ให้ยาดังกล่าวมา ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเป็นการ “ตัดวงจรโรค” แต่เป็นความ “โชคดี” คนไข้เด็กรายนี้แม้จะเจอกับเชื้อดื้อยา แต่เชื้อดังกล่าวเป็นกลุ่ม “ไมโคพลาสมา” (Mycoplasma) ที่ไม่ก่ออาการรุนแรงนัก ประกอบกับแพทย์หาวิธีการรักษาได้ถูกต้องพอดี ทำให้อาการค่อยๆ ดีขึ้น.. ในเวลาเพียง “4 วัน” เท่านั้น!!!


สอดคล้องกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ที่กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2555 ที่พบว่า โรงพยาบาลของรัฐ มีการจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย เฉลี่ยแล้วร้อยละ 56 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยพบโรงพยาบาลที่จ่ายยาปฏิชีวนะสูงสุดคือร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น เชื่อว่าถ้าสำรวจไปยังของเอกชนด้วย น่าจะสูงกว่านี้ ทั้งที่เกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไม่ควรจ่ายยาปฏิชีวนะ…..เกินร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด!!!


“เราติดเชื้อดื้อยากันถึง 100,000 คนต่อปี เราต้องนอนโรงพยาบาลกันนานขึ้น ค่าใช้จ่ายก็สูงมากขึ้น และในจำนวนนี้ไม่ได้กลับบ้านถึง 38,000 คน เพราะเสียชีวิตในโรงพยาบาลเนื่องจากปัญหาเชื้อดื้อยา เราต้องใช้เงินแก้ปัญหาไป 4 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วถ้าเอา 3 หมื่นกว่าคนนี้มาคำนวณ จะพบว่าเรามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 15 นาทีต่อ 1 คน” นพ.พิสนธิ์ กล่าว


ทำไมเชื้อจึงดื้อยา? ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา หายนะภัย 'เชื้อดื้อยา' thaihealth(กพย.) อธิบายว่า ยาปฏิชีวนะหากได้รับอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ ย่อมจัดการกับเชื้อแบคทีเรียได้ “อยู่หมัด” แต่ที่ผ่านมา เมื่อคนเรารับยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการรับในปริมาณน้อยๆ ทำให้เชื้อไม่ตาย และหลังจากนั้น เชื้อที่อยู่รอดจะ “วิวัฒนาการ” ตนเองให้….“ทนทาน” ต่อยาตัวนั้นด้วย!!!


ยาปฏิชีวนะ ถ้าได้รับน้อยๆ มันจะเป็นตัวกระตุ้น ถ้าฆ่าไม่หมดเชื้อที่ตกค้างอยู่มันก็จะกลายเป็นตัวร้าย คือพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น ดื้อด้านต่อยามากขึ้น หรือดีไม่ดีทำลายยาด้วยซ้ำ ฉะนั้นยาก็จะไม่ได้ผล พอมันเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ พอยาปฏิชีวนะหมดไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราจะไม่มียาใช้ ก็ต้องล้มตายกันไป เหมือนตอนที่เราไม่มียาปฏิชีวนะใช้ในสมัยก่อนที่จะเจอเพนิซิลลิน คนตายด้วยโรคติดต่อเยอะ พอมียาปฏิชีวนะมาก็ค่อยดีขึ้น แต่ตอนนี้มันจะกลับไปเป็นไม่มียาปฏิชีวนะใช้ คือจะล้มป่วยตายกันเหมือนเดิม” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ระบุ

Shares:
QR Code :
QR Code