หาทางออกสำหรับเด็กเร่ร่อน
ระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการบูรณาการทางสังคม
นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา ประธานการประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง การศึกษาสำหรับเด็กเร่ร่อน กล่าวว่า ในฐานะที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีภารกิจในการจัดทำและเสนอนโยบายและแผนการศึกษาของชาติ จึงได้จัดทำนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสขึ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รับผิดชอบการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบูรณาการทางสังคม เพื่อเป็นแม่บทให้เด็กด้อยโอกาส 6 กลุ่ม คือ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยซึ่งรวมเด็กเร่ร่อนด้วย เด็กถูกละเมิดสิทธิ เด็กประพฤติตนไม่เหมาะสม เด็กพิการทางกาย/ทางจิตใจ อารมณ์/สติปัญญาและการเรียนรู้ เด็กขาดโอกาส/ยากจนเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพตามความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆภายใต้การบริหารจัดการและการสนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายการดำเนินยุทธศาสตร์ต่างๆให้แล้วเสร็จในปี 2554 นอกจากนั้น การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการ ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยการเสนอให้มี สสส.ทางการศึกษา ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ อังสุคะวาทิน จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กและผู้มีความสามารถพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบว่า เด็กเร่ร่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสาเหตุในเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม การอพยพเข้ามาหางานในเมือง ระบบครอบครัวที่เปราะบาง ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้จะนำตัวเด็กไปสู่ 5 มิติ คือ 1.ขบวนการค้ามนุษย์ 2.กระบวนการค้ายาเสพติด 3.การขายบริการทางเพศ 4.การเป็นแรงงานเด็ก และ 5.การตกเป็นเหยื่อของระบบสังคม เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และจากรายงานการวิจัยของคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส (พ.ศ.2550-2552) ได้ประมาณการว่าในปี พ.ศ.2549 มีเด็กเร่ร่อนจำนวน 20,000 คน และจะเพิ่มเป็น 30,000 คนภายใน 3 ปี แต่องค์กรของภาครัฐและเอกชนสามารถให้การช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้เพียง 5,000 คน อีก 25,000 คนที่เหลือจะดำเนินการอย่างไร ในขณะที่เรื่องของงบประมาณและบุคลากรการทำงานภาคสนาม ในส่วนของรัฐบาลและองค์กรเอกชนระดับภูมิภาคยังมีปัญหาความไม่เพียงพอ ขาดการทำงานเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่ หากมีการจัดตั้ง สสส.ทางการศึกษา มาดูแลเด็กเหล่านี้ในรูปแบบคณะกรรมการในพื้นที่ ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการเป็นสำนักงานกระจายตามภูมิภาค น่าจะทำให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่ และจะทำให้มีความคล่องตัวมากกว่าการให้ภาครัฐมาบริหารจัดการ
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
update: 01-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร