‘หาดใหญ่’ ยังไม่เอื้อต่อการเดินและปั่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ประเทศเดนมาร์ก ญี่ปุ่น ไต้หวัน ได้รับการขนานนามจากคนทั่วโลกว่าเป็นเมืองจักรยาน ผู้คนจำนวนมากใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะรัฐบาลส่งเสริม จึงออกแบบผังเมือง เพื่อรองรับนักปั่นและคนเดินเท้า สำหรับประเทศไทย ที่สภาพแวดล้อมถนนหนทางไม่เอื้ออำนวย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงาน อื่น ๆ กว่า 15 องค์กร ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จนรัฐบาลได้บรรจุการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (Non-Motorized Transportation : NMT) ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ขณะเดียวกันก็ทำงานวิจัยรวบรวมข้อมูลวิชาการเพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดเพิ่งมีการจัดงานการประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ "ชุมชนที่เป็นมิตรต่อการเดินและการ ใช้จักรยาน" ซึ่งให้ความสำคัญกับ การพัฒนาทางเท้า ทางข้าม และทางจักรยานในพื้นที่สามารถเชื่อมต่อ กันได้
ผศ.ดร.ปุณยนุช รุธิรโก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผู้จัดทำรายงานการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับผู้ใช้ทางเท้าและผู้ใช้จักรยาน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการดูงานต้นแบบของ สสส. ที่ได้มีการรณรงค์ให้มีการเดินและการปั่นจักรยาน แต่การใช้จักรยานในบ้านเราหรือการเดินทางเท้าก็ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวก จึงเป็นที่มาของการตั้งสมมุติฐานของงานวิจัยชิ้นนี้
ทั้งนี้ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ มีประมาณ 159,130 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างชนิด ที่ไม่ทราบโอกาส (non-probability sampling) แบบบังเอิญ (convenience sampling) จำนวน 150 คน ประกอบด้วยผู้ใช้ทางเท้า จำนวน 100 คน และผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (ไม่รวมถึงนักจักรยาน นักแข่ง นักท่องเที่ยวด้วยจักรยาน) จำนวน 50 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บแบบสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ใช้ทางเท้า ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวน 20 คน
ทั้งนี้บริเวณถนนสายหลักที่อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน 11 สาย ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ มีทางจักรยานในบริเวณสวนสาธารณะ เทศบาลนครหาดใหญ่จัดทำถนนแบ่งปัน (share the road) บริเวณถนนสายหลักภายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งได้งบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีจุดจอดจักรยาน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริเวณด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล บริเวณด้านในห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล บริเวณที่จอดรถของห้างเทสโก้โลตัส (หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) บริเวณที่จอดรถของห้างสยามนครินทร์ และบริเวณที่จอดรถของห้างบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
จากการเก็บข้อมูล ปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการปั่นจักรยานที่พบมากสุด การรุกล้ำบาทวิถี พบว่าทางม้าลายบางแห่งมีสีจางมองเห็นไม่ชัดเจน ไม่มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้าม ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ บริเวณสะพานลอยบางแห่งสกปรก มีขยะตามพื้น ถนนบางสายเป็นถนนสายหลัก (ถนนกาญจนวนิช) แต่บางช่วงของถนนไม่มีบาทวิถี ศาลาที่พักริมทาง หรือศาลาที่พักสำหรับรอรถประจำทาง บางแห่งอยู่ในสภาพชำรุด ทรุดโทรม ไม่มีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
มีข้อเสนอแนะว่า ควรแก้ไขปัญหาการรุกล้ำบาทวิถีอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมรณรงค์ให้เห็นประโยชน์ของการเดินและการปั่นจักรยาน เป็นต้น ควรมีการจัดระเบียบทางเท้า เพิ่มแสงสว่างตามทางเท้า มีกล้องวงจรปิดตามหัวมุมที่เป็นจุดเสี่ยง มีเส้นทางเดินเท้าที่กว้างพอ มีพื้นเรียบ และปลอดภัย ควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ที่สนับสนุนการเดินทางอย่างปลอดภัย เช่น ทางข้ามที่มีไฟจราจร
สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเดิน โดยปลูกต้นไม้ที่สร้างความร่มรื่นตามถนนหนทาง จะทำให้มีผู้สนใจเดินแทนการใช้พาหนะ อื่น ๆ มากขึ้น ทำทางเท้าให้ต่อเนื่องเชื่อมกันอยากให้มีไฟข้ามถนน มีป้ายบอกทางหรือป้ายเตือนต่าง ๆ เพิ่มทางม้าลาย เพิ่มศาลาที่พักริมทาง
"แนวทางการทำโครงการเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการปั่นจักรยาน จะเกิดผลสำเร็จจึงต้องมีการร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เป็นองค์ประกอบของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล ชุมชน และโรงเรียน ที่จะมาเป็นจุดเริ่มต้นช่วยผลักดันโครงการให้เกิดเป็นพื้นที่ ที่จะสามารถเดิน-ปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัย" นายพรเทพ ดิษยบุตร เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดิน (ภาคใต้ตอนบน) กล่าว
งานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างต่าง ๆ ของเมืองหาดใหญ่ยังไกลจากคำว่าเมืองแห่งการเดินและปั่น แม้จะมีพื้นที่ปั่นจักรยานจำนวนหนึ่ง แต่เป็นเพียงมิติของการออกกำลังกายยังไม่ครอบคลุมการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน