หัวใจสำคัญของการรักษาเด็กติดเกม
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
เรื่องของเด็กติดเกมนั้น เกี่ยวข้องกับบุคคลและ สิ่งแวดล้อม ไล่ไปตั้งแต่บุคคลวงเล็กก่อน คือตัวเด็กเอง เป็นเรื่องของความพอดี เรื่องการมีวินัย จะเล่นก็เล่นได้ ไม่ใช่เรื่อง คอขาดบาดตาย แต่ต้องรู้ว่าชีวิตต้องประสบความสำเร็จ หลายด้าน และชีวิตต้องสร้างต้นทุนสำหรับอนาคต
1. เรื่องเกม อยู่ที่ความพอดี (ทางสายกลาง)
ถ้าไปสุดขั้ว 2 ทางจะไม่เหมาะ คือปล่อยให้เด็กเล่นโดยไม่จำกัดไม่ดีแน่นอน ห้าม 100% ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กยุคใหม่ขึ้นกับอินเทอร์เน็ต ขึ้นกับคอมพิวเตอร์ เราจะไปนั่งจ้อง นั่งเฝ้าเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ทางสายกลาง ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ลักษณะความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย แต่ไม่มากจนทำให้เสียการทำหน้าที่อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งจะรวมกับเรื่องของวินัยและความรับผิดชอบ คือมีวินัยในการควบคุมตนเอง ไม่เล่นมากเกินไป
2. ให้เด็กชื่นชมในสิ่งที่ดีกว่า
ไม่ใช่การแก้ที่เด็กโดย ตรง แต่เบี่ยงเบนให้เด็กออกไปทางอื่น ซึ่งสังคมพ่อแม่ต้อง เอื้อ ไม่ใช่อยู่ดีๆ สั่งให้ไปเล่นอย่างอื่นไม่ได้ต้องพาเขาไปจ่ายเงินให้เขาไป โรงเรียนจัดกิจกรรมนั้นขึ้นมาให้เขาได้ร่วมทำ พ่อแม่ก็ต้องหาวิธีให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมทางเลือก
3. การแก้ไขที่พ่อแม่
3.1 ทำสิ่งแวดล้อมรอบใกล้ตัวเด็ก เช่น จัดการเรื่องการเงิน การลดโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
3.2 วิธีสื่อสารกับเด็ก คือ ไม่ได้ตรงแบบสั่งการ ใช้อำนาจ ใช้อารมณ์ ต้องเข้าไปแบบเจรจา เข้าไปแบบ หนักแน่น แต่นุ่มนวล
หนักแน่นในกฎระเบียบ นุ่มนวลในท่าที คือบางทีไปแบบแข็งโป๊ก ก้าวร้าว ตวาด ด่า ถอดปลั๊ก หรือเข้าไปบอกลูกเลิกเถอะๆ พอลูกขอเล่นอีกหน่อยก็ยอม ขออีกชั่วโมงนะก็ยอม นี่คืออ่อนปวกเปียก แต่ว่าตกลงกันแล้ว 2 ชั่วโมง พ่อแม่ขอให้ลูกหยุด ทำกิจกรรมอย่างอื่นดีมั้ย คืออ่อนนอกแข็งใน
ส่วนเรื่องท่าทีรวมๆ ก็มีทั้งบวกและลบ คือต้องมี การเห็นข้อดีของเด็กบ้าง ต้องมีการชมเด็กบ้าง ไม่ใช่เห็นแต่ข้อร้ายไปหมด การไม่เห็นข้อดีไม่ใช่ลูกไม่มีข้อดีนะ แต่เพราะพ่อแม่ไม่รู้วิธีมองข้อดี
4. การจัดการสิ่งแวดล้อมภาพใหญ่
การคุมเกมที่ไม่ดี คุมร้านอินเทอร์เน็ต ถ้าไม่ควบคุมเลยก็จะเกิดปรากฏการณ์ คือ คนขายสินค้ากระตุ้นให้คนเล่น