“หัวลำโพง”…ทำเลดี “คนไร้บ้าน”
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพโดย สสส.
หน้าบันไดทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีหัวลำโพงมีไฟฟ้าที่ส่องสว่างตลอดทั้งคืน ตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป เหล่าคนไร้บ้านเลือกที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นห้องนอนกลางแจ้ง แม้จะมีเสียงรถราที่วิ่งตลอดคืนก็ตาม พื้นที่ตรงนี้ปลอดภัยเมื่อเทียบกับพื้นที่โดยรอบหัวลำโพง
แม้กระทั่งในพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง มีหลังคาหลบแดดฝน แต่เมื่อรถไฟเที่ยวสุดท้ายเคลื่อนตัวออกไปประมาณ 4 ทุ่มเศษ เสียงนกหวีดจะส่งสัญญาณให้ทุกคนออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะมาล็อกประตู รอเวลา 04.30 น. ประตูสถานีหัวลำโพงจะเปิดต้อนรับผู้โดยสารอีกครั้ง
ในช่วงกลางวันเหล่าคนไร้บ้านจะออกเดินทางด้วยรถเมล์จากจุดนี้ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างที่ว่ากลีบหมูย่านลำลูกกา จะมีผู้รับเหมามาโฉบรับคนงานไปทำงานก่อสร้างเป็นรายวัน บางคนนอนรอเป็นคืนเป็นวัน เพื่อรอให้คนมาจ้าง แต่ปัจจุบันรถเมล์ฟรีไม่มีแล้วต้องมีบัตรสวัสดิ การแห่งรัฐจึงใช้บริการได้ คนไร้บ้านบางคนไม่ได้ลงทะเบียน เพราะมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็ขาดสิทธิตรงนี้ไป
คนไร้บ้านที่ยึดทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นที่หลบนอน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายใน วัยเกือบ 50 บางคนป่วย บางคนมีเชื้อเอชไอวี หรือซ่อนวัณโรคไว้ โดยที่ตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำ
"เคยทำงานก่อสร้าง แต่เราป่วยเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง กลับไปบ้านที่สุรินทร์ น้องสาวก็พูดว่าเขามีภาระต้องดูแม่ที่แก่แล้วอายุ 80 ลูกสาวโตแล้วได้ผัวไปหลายคนแล้วเอาหลานมาให้แม่เลี้ยงอีก 3 คน เราไม่อยากเป็นภาระใคร ถ้าขาดีก็อยากไปทำงาน งานที่ทำได้ตอนนี้เขาจ้างไปรับพระตามวัดที่เขาแจก บางครั้งต้องไปค้างคืนอาศัยนั่งรถไฟไป ได้ค่าจ้าง 300 บาท จ่ายค่ารถไปเหลือไม่ถึง 100 เราก็ต้องเอา" แสวง (นามสมมุติ ) วัย 53 คนไร้บ้านจากสุรินทร์ เล่าถึงชีวิตของตัวเอง
ธเนศ จรโณทัย ตัวแทนคนไร้บ้านที่คลุกคลีกับคนไร้บ้านย่านหัวลำโพง เล่าว่า ที่นี่ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายของกลุ่มวัยรุ่น ตรงนี้มีไฟและรถราวิ่งขวักไขว่ แต่ก็มีบางครั้งกลางดึกคนเหล่านี้ถูกเตะจากวัยรุ่นที่เมา บางคนโดนขโมยกระเป๋าสตางค์ ตรงนี้มีคนไร้บ้านคนหนึ่งต้องไปทำบัตรประชาชนถึง 22 ครั้ง เพราะถูกล้วงกระเป๋า บัตรประชาชนทำให้เขาได้มีสิทธิที่จะเข้ารักษาได้ฟรี แต่บางคนมีทะเบียนบ้านต่างจังหวัด ก็เข้าไม่ถึงสิทธิ ที่สำคัญหัวลำโพงมีวัดอยู่รอบ ยังพอไปหาข้าวกินได้ จากเดิมพอที่จะได้อาหารหมดอายุจากร้านสะดวกซื้อ แต่ปรากฏว่าพนักงานทำลายจนกินไม่ได้ เพราะเกรงว่ามีคนเอาไปกินแล้วป่วยจะมาฟ้องร้อง
"จุดนี้มีก๊อกน้ำของการประปาอาศัยได้ดื่มน้ำฟรี แต่ยังขาดห้องสุขาเคยร้องขอกับ กทม.ไปแล้วแต่ก็เงียบ ห้องน้ำที่หัวลำโพงต้องเสียเงิน บางคนป่วยเดินต้องใช้ไม้เท้า เมื่อปวดท้องขึ้นมาก็ต้องเลือกปล่อยทุกข์หลังต้นไม้ คนกวาดถนนก็บ่นว่า ไปใช้ห้องน้ำที่วัดบางวัดก็ไม่ให้คนไร้บ้านใช้ เพราะบางครั้งเข้าไปทีละนาน ๆ ข้าวเป็นสิ่งที่เขาต้องการ ทุกวันพฤหัสจะมีหน่วยงานเอ็นจีโอมาแจกข้าว คนที่ป่วยเดินไม่ไหวก็ไม่ได้ บางคนเวียนเอาหลายรอบ เพราะต้องการตุนไว้เก็บไว้จนบูดก็มี หากไม่มีเงินจริงเขาก็จะใช้วิธีชนเงินที่เรียกกันว่าเดินไปขอเงินกับคนที่ผ่านไปผ่านมา" ธเนศ บอกเล่า
ในค่ำคืนวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยคาราวานทีมสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้าน โดยมีทีมสำรวจมาก กว่า 500 ชีวิต เฉพาะในกรุงเทพมหานครรวม 41 เส้นทาง และพร้อมกับ 16 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดร ธานี หลังสำรวจไปแล้วรอบแรก 60 จังหวัด ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีคนไร้บ้านรวม 686 คน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งที่ สสส. ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 28 ไม่มีบัตรประชาชน ร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ และร้อยละ 70 มีปัญหาสุขภาพจิต
นางภรณี กล่าวต่อว่า การสำรวจพร้อมกันในคืนเดียวทุกพื้นที่ หรือที่เรียกว่า One Night Count ครั้งนี้ ถือเป็นการสำรวจครั้งแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งสามารถป้องกันการนับประชากรคนไร้บ้านซ้ำโดยมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไปเก็บข้อมูล โดย สสส. ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูศักยภาพเพื่อให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านหรือคนจนจัดของรัฐบาลต่อไป ข้อมูลที่มาจากการจับเข่าพูดคุยกับคนไร้บ้านจริง ๆ เพราะนโยบายรัฐจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ว่าเขาจะเป็นประชากรกลุ่มไหน