หัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เปลี่ยนที่รกร้างสู่พื้นที่สุขภาวะ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สสส. ร่วมกับ กทม. และ We!Park เปิดตัว “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” พื้นที่ว่างและพื้นที่สาธารณะในเขตชุมชนที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง โดยได้รับการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ที่เรียกเก็บภาษีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในอัตราถึงร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี เริ่มบังคับใช้ในปี 2563 เป็นต้นมา เราได้เห็นพื้นที่ทำเลทองใจกลางกรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนเป็นสวนเกษตร สวนมะนาว ที่โอบล้อมไปด้วยตึกคอนโด เพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า สำหรับกลุ่มทุนใหญ่สามารถปรับพื้นที่เป็นสวนเกษตรได้อย่างรวดเร็ว แต่คนที่ไม่มีทุนและต้องการเก็บที่ดินไว้ให้ลูกหลานมีทางเลือกไม่เยอะ ถ้าไม่มีทุนจำเป็นต้องเก็บเงินไว้จ่ายภาษีที่ดินต่อไป
We! park แพลตฟอร์มด้านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย สถาปนิก ภูมิสถาปนิก สหวิชาชีพและผู้ที่สนใจในการพัฒนาเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจากสสส. มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะมองเห็นโอกาสที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยเป็นผู้ประสานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำงบประมาณที่จะสร้างสวนสาธารณะของกทม.มาสร้างสวนขนาดเล็กเพื่อให้ชุมชนเข้าถึงง่าย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะ 400 เมตร หรือในระยะเวลา 5 นาทีได้อย่างทั่วถึง ตามนโยบายเกณฑ์พื้นที่สาธารณะเขียวแบบใหม่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO)
นายยศพล บุญสม ผู้จัดการโครงการ We! park กล่าวว่า วันนี้โมเดลสวนขนาดเล็กตามแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วที่สวน "วัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์" เป็นการใช้พื้นที่ว่างซอยใกล้วัดหัวลำโพงเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างในเขตชุมชนที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองตั้งอยู่ในย่านที่มีความเจริญและมีความหนาแน่นสูง มีวัด โรงเรียน อาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย แต่ขาดพื้นที่สีเขียว โดยพื้นที่ "สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์" มีขนาด 1,048 ตารางเมตร (0.7 ไร่)
"จากเดิมที่เรามีสวนในเชิงปริมาณไม่ได้การันตีว่าคนจะมีสุขภาพที่ดี เมื่อมีสวนใกล้บ้าน ทำให้คนมาออกกำลังกายมากขึ้น และเมื่อพูดเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีมิติสุขภาวะอย่างเดียว มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ระบบยั่งยืนของเมือง มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก เรามองว่าที่เราโฟกัสขนาดใหญ่เพราะตอบโจทย์พื้นที่เมืองใหญ่กทม. พื้นที่ขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าไปในชุมชนได้ อีกอย่างประยุกต์โปรแกรม การมีส่วนร่วมแต่ละพื้นที่โดยรอบตอบโจทย์แต่ละจุด" ผู้จัดการโครงการ We! park บอกเล่า
ปัจจุบัน We! park เริ่มดำเนินการสร้างสวนในพื้นที่รกร้างในพื้นที่กทม.แล้ว 5 แห่งที่แล้วเสร็จไปแล้วในชุมชนโชฏึก ของชุมชนคลองผดุงกรุงเกษม และพื้นที่แห่งที่ 3 อยู่ตรงเอกมัย คลองแสนแสบเป็นพื้นที่เศษเหลือจากการทำถนน ขณะนี้ได้แบบที่ผ่านการประกวดแบบแล้ว และอีกที่เขตคลองสานเป็นที่ดินบริจาคให้ใช้ทำประโยชน์ 15 ปี ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ขนาด 2 ไร่เจ้าของที่ติดต่อมากับเขตคลองสาน กทม.เป็นเอกชนรายเล็กมีที่ดิน แต่ไม่ต้องการทำสวนเกษตร โดยพื้นที่ประมาณ 2 ไร่กำลังเหมาะสมกับพื้นที่ให้ประมาณ 10-15 ปี เพราะรูปแบบการทำสวนสาธารณะในรูปแบบนี้ต่างจากสวนสาธารณะที่กทม.ทำ คือเริ่มต้นตั้งแต่การทำแบบ ทำกระบวนการสอบถามความต้องการของชุมชน ใช้เวลาในกระบวนการนี้ประมาณ 1 ปี และสร้างโครงสร้างต่าง ๆ รวมทั้งกลไกการดูแลสวนชุมชนร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่าเมื่อครบระยะเวลา 15 ปีเจ้าของที่สามารถนำที่ดินกลับไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะ การพัฒนาให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ประชาชนเข้าถึงได้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนมีสุขภาพดีใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม เล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตเมือง ที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางกายใจ และสภาพแวดล้อมของเมือง จึงได้สนับสนุนโครงการ We! Park
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในกิจกรรมส่งมอบสวนสาธารณะ "วัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์" ว่า ตามนโยบาย Green Bangkok 2030 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2573 ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตร/คน โดยเห็นโอกาสจากพื้นที่ว่างภายในเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว
สิ่งที่โดดเด่นของสวนขนาดเล็กใกล้ชุมชนคือเรื่องการออกแบบ ต้องใช้คำว่า "เจ๋ง" เพราะสวนสาธารณะใช้ทีมงานออกแบบสหวิชาชีพ และนำความต้องการของคนใช้สวนมาถอดแบบสวน ดังนั้นสวนที่ออกแบบโดย We! Park จะมีธีมและแตกต่างตามบริบทของพื้นที่
นายกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา กรรมการ ฉมาโซเอ็น เล่าถึงงานออกแบบ"วัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์" ว่า โจทย์เริ่มจากพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ต้องการให้มีการใช้งานแบบยืดหยุ่น ตั้งแต่รั้วของสวนล้อไปกับภูมิทัศน์ของย่านนี้ เป็นเหล็กเข้ากับตึกแถวที่ใช้เหล็กดัดเป็นส่วนประกอบของอาคาร มีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวให้กับคนในชุมชน เครื่องออกกำลังกาย ทางเดินรอบสวนที่มีมุมเด็กเล็ก และมุมสำหรับเด็กนร.ชั้นมัธยมเพราะสวนมีโรงเรียนทั้งระดับมัธยม และชั้นอนุบาลถึงประถม จัดมุมสำหรับทำการบ้าน และลานกิจกรรมให้เด็กมาซ้อมเต้นโคฟเวอร์ หรือซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งก่อนทำได้สำรวจความคิดเห็นเด็กด้วย แสดงความจำนงว่าต้องการพื้นที่ลักษณะนี้ เพราะเดิมต้องไปใช้พื้นที่ย่านสวนลุมพินี และสามย่าน ขณะที่สวนแห่งนี้มีกังหันลมที่เป็นเครื่องเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อใช้มือหมุนกังหันจะทำงาน และให้เป็นธีมของสวนและตรงกับสัญลักษณ์ของเขตบางรัก
ส่วนต้นไม้ เลือกต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมแบบไทยให้ความรู้สึกว่าเป็นสวนข้างบ้าน และใช้ต้นไม้ที่มีขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน 6 นิ้วเพื่อให้เห็นการเจริญเติบโต ไม่ต้องการนำไม้ใหญ่ต่างพื้นที่เข้ามาปลูก ซึ่งไม่มีโอกาสเติบโต นอกจากนี้ยังปลูกพืชที่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่น ชะพลู ฟ้าทะลายโจร อัญชัน เป็นต้น
น.ส.กัญญา สุระกิติกุล ประธานชุมชนวัดหัวลำโพง "หรือป้าจู" ในวัย 65 ปี เล่าว่า อยู่ที่ชุมชนนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ชาวบ้านดีใจมากเพราะเดิมพื้นที่ตรงนี้ไม่สวยเลย ไม่คิดว่าจะมีสวนสวย ๆ อยู่ใกล้กับชุมชน เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของคอนโดที่อยู่ติดกันมอบให้ชุมชนเป็นสวนสาธารณะแบบถาวร ชุมชนร่วมกับกทม.ช่วยกันดูแล ทางเขตจะเข้ามาดูแลสวนรดน้ำต้นไม้ โดยมีกุญแจเปิดปิดสวนอยู่ที่สำนักเขตและคนในชุมชน กรณีที่มีคนจรจัดเข้ามาใช้บริการเมื่อถึงเวลาแล้วไม่ออกจากพื้นที่ ชาวบ้านได้ตกลงกันแล้วว่าจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญออกไปเพราะไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ เพราะบางครั้งคนเหล่านี้ดื่มสุรา โดยสวนมีเวลาเปิดตั้งแต่ 05.00-20.00 น.
ภาคส่วนการทำงานสำคัญจนเห็นสวนสาธารณะในรูปแบบใกล้บ้านกระจายตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย เป็นเครือข่ายการทำงานสำคัญ ที่จะมาขยายโมเดลการใช้พื้นที่รกร้างให้ละเอียดขึ้นนายนำชัย แสนโสภา นายกสมาคมฯ บอกว่ามุมของพื้นที่รกร้างมีทั้งรัฐและเอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มองในแง่ดีอาจจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้รู้จักมากขึ้น จากเดิมคนไม่รู้จักเลย และได้ประโยชน์หลายฝ่ายทั้งชุมชน และบางแห่งเป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อต้องพัฒนาอาจต้องถมดิน เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ ขณะที่กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณจากกองสวนที่มีอยู่แล้วเข้ามาสร้างพัฒนาและดูแล โดยที่ไม่ต้องออกแบบ เข้าใจดีว่ากองสวนของกทม.มีงานล้นมือ ดังนั้นเมื่อมีทีมสหวิชาชีพมาช่วยออกแบบ และยังลงพื้นที่ถามความต้องการของชุมชน ซึ่งปกติแล้วการออกแบบสวนที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้ทำกระบวนการนี้ เพราะไม่มีคนและเวลาที่จะทำงานตรงนี้ ซึ่งสสส.เข้ามาเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
อย่างไรก็ตามขณะนี้ระบบราชการในเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ดิน ยังไม่ชัดว่า เมื่อเจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ที่ดินมาทำเกษตร แต่เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่เจ้าของที่ไม่ได้ลงมือทำเองจะยังต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าหรือไม่ ซึ่งยังย้อนแย้งกับข้อกฎหมายที่ว่าเจ้าของที่ดินต้องลงมือทำเอง
นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย บอกว่า การเดินหน้าทำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นสวนสาธารณะ คือวิธีการหนึ่งของการส่งเสียงถึงกระทรวงการคลังให้เห็นว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาพื้นที่ว่างเปล่าให้ใช้ประโยชน์ขึ้น โดยเน้นทำให้เห็น
ด้านผู้จัดการโครงการ We! park เสริมว่า โมเดลสวนสาธารณะขนาดเล็กจะช่วยทำให้เป็นไกด์ไลน์ และทำให้แน่ใจว่ากรุงเทพมหานครเข้ามาดูแลให้ และในอนาคตอยากเห็นโมเดลนี้ขยายไปในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ สุดท้ายจะทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย อาจทำให้สวนลักษณะนี้มีรายได้ เปิดเป็นคาเฟ่ นำเงินรายได้มาตั้งเป็นกองทุนดูแลสวน โดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ
ระบบราชการมีช่องว่าง ช่องโหว่ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เมื่อเอกชนและชุมชนเข้ามาเสริมทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปด้วยกัน โดยมีไอเดียเป็นธงเพื่อเกิดความสมดุลและยั่งยืนในทุกมิติ