หัดจับถูกเด็กไทย แนะผู้ใหญ่ควรมอบสิ่งที่ดีให้
เพื่อความมุ่งมั่นในการทำความดีต่อไป
เริ่มต้นปีใหม่พร้อมๆ กับวันเด็กในวันเสาร์ที่ 2 ของสัปดาห์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2551 แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หรือ‘เด็กพลัส‘ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพเชิญชวนผู้ใหญ่ทุกๆ ท่านมาร่วมร่วมแรงร่วมใจจับถูกเด็กไทย
การหัดจับถูกพร้อมกับสร้างแรงเสริมบวกเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามถือเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะนำไปสู่พลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี ต่อไปนี้เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างของวัยรุ่นที่มาขอรับคำปรึกษาอันเนื่องมาจากจับผิดของพ่อแม่ ซึ่งที่จริงแล้วหากองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ ที่วันๆ เอาแต่จับผิดก็มีผลไม่แพ้กัน
กรณีศึกษาที่ 1
“แม่พาลูกชาย อายุ 16 ปี มาพบหมอที่คลินิกวัยรุ่นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พร้อมๆ กับกล่าวตำหนิพฤติกรรมของลูกชายให้ฟังต่างๆ นานาอย่างมีอารมณ์ในขณะที่ลูกชายอยู่ในท่าที่สงบนิ่ง ลูกชายมีปัญหายาเสพติด ติดเน็ต เกมส์ ปัญหาการเรียน สาละวนอยู่ในสมองของคุณแม่จนเครียดไปหมด แม่พยายามวางกรอบและทำให้ลูกชายอย่างเข้มงวดพร้อมบทลงโทษ แต่ไม่วายที่จะทำให้ลูกชายดิ้นรนหาหนทางปลดปล่อยทุกข์ให้กับตนเองแต่พอทดลองให้แม่ลองจับถูกลูกชาย ค้นหาสิ่งที่ยอมรับได้หรือสิ่งที่ดีๆ ในตัวของลูกชาย แม่กลับนึกไม่ออกจริงๆ”
กรณีศึกษาที่ 2
“พ่อกับลูกชาย อายุ 14 ปี เรียนตกต่ำได้เกรด 0.26 ไม่ค่อยอยากจะอยู่กับบ้าน พ่อกับลูกมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีเวลาที่ลูกชายทำดี เช่น กลับบ้านรงเวลาก็มักจะได้รับคำพูดประชดประชันจากพ่อ เช่น วันนี้พายุคงเข้าประเทศไทยมั้งเลยพัดเอ็งกลับบ้านเร็วขึ้น เป็นต้น”
จริงๆ กรณีศึกษาเหล่านี้มีอีกมากมายให้เห็นถึงปัญหาของวัยรุ่นที่ส่วนหนึ่งมีฐานมาจากการจับผิด การจับผิดคนอื่นเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่รอให้เขาทำผิดพลาด หากทุกคนลองนึกดูว่า วันๆ ในชีวิตของเราโดนผู้คนรอบข้างตำหนิติเตือนหรือจับผิดตลอดเวลา แม้ว่าทำดีก็ไม่ได้รับคำชื่นชม หรือชื่นชมแบบไม่จริง แม้แต่ชื่นชมในใจ ไม่บอกกล่าวให้รู้กัน แต่เมื่อเราพลั้งพลาดกลับได้รับคำตำหนิที่ชัดเจนทันที และยิ่งถ้าวันๆ มีแต่เหตุการณ์แบบนี้ กำลังใจที่จะประกอบคุณงามความดีจะเหลืออะไร ฟ้าที่สดใสจะกลายเป็นฟ้าที่มืดมน ขาดความสุขในชีวิตจิตใจ บั่นทอนทั้งกำลังใจกำลังสติปัญญา
การสังเกตคนอื่นเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้องหรือการจับถูกเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยความอดทนและควบคุมตนเอง และอาจต้องมองข้ามพฤติกรรมที่ไม่น่าพอใจ ที่เคยเป็นจุดสนใจมาก่อน ทุกวันนี้หมอยอมรับว่าปัญหาพฤติกรรมของวัยรุ่นไม่ต่ำกว่าครึ่งมาจากการจับผิดอย่างเดียว ไม่มีการจับถูก อันที่จริงหากดูพัฒนาการไปในทางที่ดีได้ ต้องมีความเหมาะสมในการได้รับคำชื่นชม และติเพื่อก่อ กล่าวคือ 2 ใน 3 ของชีวิตควรเป็นกำลังใจเพื่อให้ทำดี อีก 1 ใน 3 เป็นแรงติเตือนเพื่อสร้างแรงทะเยอทะยาน และป้องกันความผิดพลาด แต่ทุกวันนี้ในประเทศไทยเราถนัดที่จะตำหนิติเตือนเกือบจะ 100% เหลือเพียงไม่ถึง 10% ที่จะชื่นชม ยิ่งถ้าการชื่นชมหรืออารมณ์การชื่นชมที่ไม่จริงใจก็จะยิ่งสร้างความเจ็บปวด
แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หรือ เด็กพลัส(เป็นเด็กแนวบวก) จึงเรียกร้องหรือเชิญชวนให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมอบสิ่งที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในโอกาสวันเด็กปีนี้ ด้วยการหัด จับถูก หรือจับบวกพร้อมๆ กับคำชื่นชมด้วยความจริงใจให้มากกว่าการจับผิด เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนเกิดพลังความมุ่งมั่นในการทำความดีและกิจกรรมดีๆ ต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:28-07-51