หวั่นสังคมไทยคุ้นชินการใช้ `คำรุนแรง`
กรมสุขภาพจิต เผยหวั่นสังคมไทย คุ้นชินกับการใช้คำพูดรุนแรงในกลุ่มผู้ชุมนุม เสี่ยงต่อเยาวชนที่จะซึมซับและเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย อาจนำไปสู่การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีความรุนแรงได้ในอนาคต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่สำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม ที่ผ่านมา จำนวน 308 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งผู้ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมและไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม พบว่า ในภาพรวม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.60 มีความเครียดน้อย ขณะที่ ประชาชน ร้อยละ 7.40 มีความเครียดอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ผู้ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมยังคงมีความเครียดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม และสาเหตุของความเครียด อันดับ 1 มาจากการเดินทาง รองลงมา คือ การรับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ และการได้รับฟังคำพูดที่รุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากการสอบถามถึงสื่อและระยะเวลาในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า ประชาชน ร้อยละ 93.80 รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด รองลงมา คือ สื่อวิทยุ คิดเป็นร้อยละ 71.80 โดยส่วนใหญ่เปิดรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 42.50 รองลงมา เปิดรับ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 39.00 ตามลำดับอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจในครั้งนี้ คือ ความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้คำพูดรุนแรงและมีเจตนาให้เกิดความเกลียดชัง พบว่า ประชาชนเกินครึ่ง ร้อยละ 53.20 รู้สึกไม่ชอบฟังแล้วเครียด รองลงมา ร้อยละ 25.30 มีความรู้สึกเฉยๆ และ รู้สึกว่า สะใจดี
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อการใช้คำพูดรุนแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ร้อยละ 76.60 รองลงมา เห็นว่า เป็นการใช้คำพูดหยาบคาย แม้จะเกลียดกันแต่ก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น ร้อยละ 59.10 เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงออกถึงความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ร้อยละ 57.50 เห็นว่าเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้ ร้อยละ 51.30 และเห็นว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของบุคคลในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเป็นการกระตุ้นอารมณ์โกรธและปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกได้ ร้อยละ 51.00 เท่ากัน
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับสังคมไทยที่ประชาชนเกินครึ่งเห็น ว่าการใช้คำพูดที่รุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงออกถึงความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม เพราะเป็นสัญญาณที่เริ่มบ่งบอกว่าสังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับการใช้คำพูดที่รุนแรงซึ่งมีแนวโน้มไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นได้”การใช้คำพูดที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อบุคคล 3 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ คนพูด คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคนพูดและคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง อาทิ เด็กและเยาวชน
ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้และเลียนแบบจากความคุ้นชินในการใช้คำพูดที่รุนแรงซึ่ง อาจขยายความเกลียดชังเป็นวงกว้างและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะคุ้นชินต่อการใช้คำพูดรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการมีปัญหาทางอารมณ์และการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นในอนาคต ส่งผลให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เสี่ยงจะใช้พฤติกรรมรุนแรง ส่วนคนที่รับฟังมากเกินไปก็จะส่งผลให้เครียดและกังวลสูง ขณะที่ในระดับสังคม การใช้คำพูดที่รุนแรงจะสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรู้สึกรุนแรง เกลียดชังฝ่ายที่คิดต่าง ส่งผลให้ความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมอ่อนแอลง เกิดความเปราะบางในสังคม คนในสังคมมีความเครียดกังวล สังคมขาดความสุข
ดังนั้น จึงควรมีสติ รับฟังข้อมูลอย่างไตร่ตรอง นึกถึงผลกระทบของการใช้คำพูดรุนแรง เพราะการให้ข้อมูลความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชัง ซึ่งหากใช้คำพูดแบบนี้ต่อไปจะยิ่งไปกระตุ้นและยั่วยุให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ