หวั่นน้ำท่วมทำแม่เมินให้นมลูก

กรมอนามัย หวั่นน้ำท่วมทำแม่เมินให้นมลูก ย้ำ นมแม่ดีที่สุดแม้ยามวิกฤติ หมั่นโอบกอด คลายความเครียด



ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการดูแลสุขภาพแม่หลังคลอดและลูกที่อยู่ในช่วงภาวะน้ำท่วมว่า ขณะนี้หลายๆ จังหวัดของประเทศยังคงประสบกับปัญหาอุทกภัยทำให้ประชาชนหลายๆ กลุ่มวัยต้องอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่อาศัยและต้องดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาจากหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยและสาธารณสุขที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพอนามัย ทั้งการขับถ่าย การบริโภคอาหาร และการดูแลสุขภาพตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อให้ปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่กำลังให้นมลูกนั้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยหากเปรียบเทียบกับประชาชนกลุ่มวัยอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนในแต่ละพื้นที่ แต่ก็นับว่าเป็นกลุ่มวัยสำคัญที่ควรมีการดูแลสุขภาพตนเองและทารกอย่างถูกต้องเหมาะสม


ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่ยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติ แม่ที่กำลังให้นมลูกจึงไม่ควรตระหนกและตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว ควรมีการดูแลสุขภาพตนเองและลูกควบคู่กันไป โดยผู้ที่เป็นแม่ควรกินอาหารที่ได้รับจากการบริจาคหรืออาหารปรุงสุกจากการแจกจ่ายสำหรับผู้ประสบภัยให้ครบทุกมื้อและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือกรณีของบางพื้นที่ที่ยังสามารถหาผักมากินได้ ก็ควรกินผักให้มากที่สุดในแต่ละมื้อ นอกเหนือจากสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายต้องการ เพื่อเสริมสร้างพลังงานแล้วเพราะการกินผักช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญในการสร้างน้ำนม ซึ่งจะช่วยให้ลูกได้รับคุณค่าของสารอาหารนั้นๆ ในขณะที่ลูกกินนมแม่ด้วย กรณีทารกไม่กินนมแม่ แต่กินนมผสมอยู่แม่ต้องพยายามโอบกอดลูกและเอาลูกเข้าเต้าบ่อยๆ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกสบายใจที่มีแม่คอยปกป้องดูแลลดความตึงเครียดของลูกแล้ว ยังมีโอกาสที่ลูกจะยอมกลับมาดูดนมจากเต้าและทำให้กู้น้ำนมแม่กลับมาได้อีกครั้ง


“ทั้งนี้ นมแม่เป็นสารอาหารที่สำคัญและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดให้กับทารกแม้ในช่วงวิกฤติแม่ทุกคนจึงไม่ควรละเลยในการที่จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองให้นานที่สุดเพราะน้ำนมแม่ไม่เพียงแต่ปกป้องสุขภาพทารกเท่านั้น แต่น้ำนมแม่ซึ่งประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก มีภูมิต้านทานโรคช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารช่วยกำจัดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่ติดอยู่บนเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหารทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายลูกได้ยากขึ้น ส่งผลให้ลูกป่วยเป็นไข้หวัด ปอดอักเสบหรือท้องร่วงน้อยกว่าทารกที่กินนมผสมประมาณ 2-7 เท่า และยังช่วยให้ทารกสามารถเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีได้ แม้อยู่ในช่วงภาวะวิกฤติ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


 


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code