หวังยุติความรุนแรงในครอบครัว
แก้กม.สกัดมีกิ๊ก-เมียน้อย
มูลนิธิเพื่อนหญิงเตรียมเสนอแก้ไข กม.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้ถือว่าการมีกิ๊กหรือเมียน้อยเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ต้องได้รับการคุ้มครอง พร้อมกับบทลงโทษด้วยการตัดสิทธิการรักษาพยาบาล และให้คุ้มครองผู้ถูกข่มขืนอายุเกิน 18 ปีด้วย
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวในการประชุมและแถลงข่าว “บูรณาการกฎหมาย หยุดเหล้า…หยุดทำร้ายครอบครัว” ว่ามูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือปีละ 1,500 ราย เป็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว 70% ในจำนวนนี้นอกเหนือจากความรุนแรงทางร่างกายที่พบเห็นอยู่เสมอแล้ว เกือบ 50% เป็นความรุนแรงทางจิตใจที่เกิดจากสามีนอกใจ มีเมียน้อย มีกิ๊ก เป็นสาเหตุให้ครอบครัวแตกแยก โดยในรอบปีที่ผ่านมามูลนิธิต่อสู้อย่างมากเพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าการมีกิ๊กหรือเมียน้อยเป็นความรุนแรงทางจิตใจที่ต้องเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฎหมาย
นายจะเด็จกล่าวอีกว่า มูลนิธิได้เตรียมหารือเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ที่กำหนดให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเดิมไม่มีการลงโทษ มีผลให้มีผู้เพิกเฉยจำนวนมาก โดยจะเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. นี้ด้วยการตัดสิทธิบางอย่างแก่ผู้ไม่ทำหน้าที่แจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว เช่น ตัดสิทธิการรักษาพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งเสนอให้รื้อกฎหมายอาญา มาตรา 276 เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่มีข้อจำกัดไม่คุ้มครองผู้ถูกข่มขืนอายุเกิน 18 ปีด้วย
“อีกทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการประชาสัมพันธ์กฎหมายน้อย กลไกการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและการกำหนดแนวปฏิบัติล่าช้ามาก รวมทั้งสื่อมีทัศนคติเดิมๆในการเสนอภาพข่าวผู้หญิงลักษณะกระทำซ้ำ และสื่อละคร บิลบอร์ดโฆษณาที่กระทำต่อผู้หญิงเหมือนวัตถุทางเพศ ซึ่งปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก และคนในครอบครัวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทำเป็นวาระแห่งชาติ”
นายจะเด็จกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2545-2550 มูลนิธิและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำชุมชนเลิกเหล้าลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กใน 10 จังหวัดนำร่องต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ ชุมพร ลำพูน สุรินทร์ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ พบว่ากลไกสำคัญของการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในการจำกัดพื้นที่ดื่มและสถานที่ขายช่วยลดปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้มาก เพราะจากการทำวิจัยร่วมกับ สสส. เรื่องผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมของการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พบว่า 70-80% ของกลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กโดยการทุบตีทำร้าย ข่มขืนกระทำชำเราบุคคลในครอบครัว
ในส่วนของการขายเหล้ารอบสถานศึกษานั้น ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขายเหล้าบริเวณรอบมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะทำงานดังกล่าวที่มีรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต นักศึกษากว่า 80 แห่ง จะติดตามเรื่องดังกล่าวและผลักดันให้เป็นนโยบาย เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ควบคุมร้านเหล้า หลังจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
update:03-02-52