หลายหน่วยงานจับมือพัฒนาครู ผู้นำสุขภาพปฏิวัติตู้เย็น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพโดย สสส.
สสส.-สช.-สพป.กทม.-วิทยาลัยแพทยศาสตร์ม.รังสิต จับมือพัฒนาครูผู้นำสุขภาพปฏิวัติตู้เย็น
"เด็กไทยดูดี 4.0 : ปิดเทอมนี้ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น" พิธีลงนามข้อตกลงใน รร. 39 แห่งนำร่อง ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย แจงตัวเลขน่าเป็นห่วง เด็กมัธยมอ้วนถึง 34% สูงกว่าเด็กอ้วนทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า เด็กมีไขมันในเลือดสูงถึง 66% ความดันโลหิตสูง 30% เสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือด เบาหวานตั้งแต่เด็ก ผจก.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เด็กอ้วนเป็นปัญหาทั่วโลก ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ปฏิวัติตู้เย็น เด็กต้องกินอาหารเช้า กินให้ครบ 3 มื้อ อาหารมีประโยชน์ พร้อมผัก ผลไม้ ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม
งานแถลงข่าว "เด็กไทยดูดี 4.0 : ปิดเทอมนี้ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น" ในโครงการเพิ่มช่องทางแหล่งเรียนรู้ สร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารและการออกกำลังกายเพื่อเด็กไทยดูดี 4.0 และการอบรมครูผู้นำสุขภาพ 4.0 พิธีเปิดงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องราชเทวี 1 โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กทม. (วันที่ 14-15 มี.ค.) ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย กล่าวถึงที่มาของโครงการเด็กไทยดูดี 4.0 พร้อมทั้งพิธีลงนามข้อตกลงมอบบันทึกข้อตกลงร่วมกันให้กับโรงเรียน 39 แห่งใน กทม.และต่างจังหวัด
ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะอ้วนในเครือข่าย รร.ภาครัฐสังกัด สพฐ.กทม. 5 รร. ในปี 2561 พบว่า เด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนถึง 16% และใน รร.เอกชนประถมอ้วน 19% และมัธยมอ้วน 34% ซึ่งสูงกว่าเด็กอ้วนทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า ทั้งประเทศอยู่ที่ 12% เด็กอ้วนเหล่านี้พบว่ามีไขมันในเลือดสูงถึง 66% ความดันโลหิตสูง 30% พบน้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวาน อีก 10% ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สะสมตั้งแต่วัยเด็ก (สาเหตุที่คนไทยเสียชีวิต 3 อันดับแรก โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ)
แนวทางป้องกันและได้ผลในระดับหนึ่งของ รร.เครือข่ายประถม สพฐ.ใช้เวลา 10 ปี ในการลดอัตราอ้วนจาก 21% เหลือ 15% ในปี 2560 แต่ช่วงปิดเทอมเด็กกลับอ้วนขึ้นมาใหม่ ปี 2561 อัตราอ้วนกลับมาที่ 16% การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องใช้การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร, ครู, ผู้ปกครอง ซึ่งใน รร.เอกชนมีปัญหาโภชนาการเกินในอัตราสูงกว่าภาครัฐทั้งใน กทม.และส่วนภูมิภาค มี รร.เข้าร่วมโครงการลดอ้วน 40 รร. โดยการสนับสนุนของ สสส. สช. และ สพป.กทม. เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง
"การจัดค่ายอบรมให้ครูให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องโรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพ ส่วนหนึ่งจากปัญหาอาหาร ขาดการออกกำลังกาย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน" ศ.พญ.ชุติมา กล่าว
ความร่วมมือเด็กไทยดูดี 4.0 : สถานการณ์เด็กอ้วน และจับตาสัญญาณในช่วงปิดเทอม ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็นพร้อมกับความร่วมมือเด็กไทยดูดี 4.0 โดยชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้จัดการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.สุทธิชัย เดชสวรรณนิธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพฐ.) ศ.คลินิก นพ.สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของพวกเราในการสร้างองค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้ให้เด็ก ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้อง พ่อค้าแม่ค้าใน รร. เข้าใจลึกซึ้งถึงปัจจัยสำคัญเมื่อเด็กอ้วนมีปัญหาโรคไขมันในเส้นเลือดเรื้อรังเป็นอันตรายได้อย่างเฉียบพลัน เป็นภัยอันตรายต่อลูกศิษย์ ดังนั้นต้องสร้างผู้นำซึ่งเป็นบุคคลสำคัญนำความรู้ที่ได้จากค่ายวิชาการสร้างแหล่งเรียนรู้ใน รร.สร้างความเข้าใจต่อเด็ก พัฒนาให้เด็กดูแลสุขภาพตัวเอง
เด็ก รร.เอกชนมีภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป จึงร่วมมือกับ สสส.และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในโครงการเด็กไทยดูดี 4.0 ด้วยการกำหนดนโยบายให้ รร.ที่เข้าร่วมหรือ รร.ในสังกัด ลดการจำหน่ายอาหารทอด อาหารแปรรูป เบเกอรี่ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไปใน รร. สนับสนุนให้มีการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัยเพิ่มขึ้น จัดหาน้ำดื่มสะอาดเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอ ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพราะแค่ชั่วโมงพลศึกษาเพียง 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ไม่เพียงพอ และสนับสนุนให้ครูมีทักษะความรู้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตั้งแต่อายุยังน้อย
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ถ้าสุขภาพแย่ เงินหามาได้เยอะเท่าไหร่ก็ไร้ความหมาย ต้องให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม พ่อแม่มีพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธีด้วยอาหารดี มีคุณภาพ สสส.สนับสนุนมหาวิทยาลัยรังสิตทำกิจกรรมสำคัญ ผลที่เกิดจากการอบรมเข้าค่ายจะส่งผลดีต่อลูกศิษย์ของเรา ขณะเดียวกันเราไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในการดูแลด้วย เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่อวยพรกันไม่ได้ ต้องลงมือทำเอง คำพูดเป็นเรื่องการให้กำลังใจให้มีพลังในการทำให้เป็นจริง
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า แนวโน้มเด็กอ้วนเป็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ผลการศึกษาประเทศที่มีมาตรการที่ประสบผลสำเร็จของการลดภาวะน้ำหนักเกินในเด็กอังกฤษ ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรม คือผู้ปกครอง เพื่อน สิ่งแวดล้อมใน รร.และสื่อ การปรับสิ่งแวดล้อมใน รร.ได้รับความร่วมมือจาก รร.ในสังกัดเอกชนและ รร.ในสังกัด สพฐ. ในพื้นที่ กทม. สสส.ยินดีสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการ การรณรงค์สื่อสารสู่สังคม รวมทั้งเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับเด็กวัยเรียน สำหรับผู้ปกครองมีข้อแนะนำในช่วงปิดเทอมโดยเตรียมอาหารครบ 5 หมู่ให้ลูกกินอิ่มครบ 3 มื้อ มื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุด เมื่อลูกอิ่มจะลดพฤติกรรมกินจุบจิบลงได้ อาหารว่างที่ดีคือ ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ
ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำให้เตรียมผลไม้หั่นหรือปลอกเป็นชิ้นใส่กล่องเก็บไว้ในตู้เย็น ให้ดื่มนมสดรสจืดหรือนมพร่องมันเนยในเด็กอ้วนวันละ 2 กล่อง (ขนาด 250 มล.) ให้เด็กดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ให้เด็กออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมงและไม่นอนดึก เพื่อให้ช่วงเวลาปิดเทอมของเด็กได้เจริญเติบโตแข็งแรงสมวัยด้วยพลังบวกจากการปฏิวัติตู้เย็นให้มีอาหารที่เป็นประโยชน์และห่างไกลโรคอ้วน
ดร.สุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีตั้งแต่วัยเรียนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้โดยเฉพาะเด็กในเมือง นอกจากนี้ โปรแกรมสนับสนุนของโครงการเด็กไทยดูดีที่ให้กับครูยังเป็นเครื่องมือในการสอนเด็กรู้จักการมีวินัย ทั้งวินัยในการกินเป็นเวลา รู้จักยับยั้งชั่งใจ วินัยในการใช้เงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตต่อไปด้วย
ตัวแทนครูและเจ้าหน้าที่ รร.ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรมครูผู้นำสุขภาพ 4.0 จำนวน 39 รร. รร.จิตรลดา รร.อนุบาลพิบูลเวศม์ รร.อนันดา รร.กรุงเทพคริสเตียน รร.อนุบาลสามเสน รร.พญาไท รร.สัมมาชีวศิลป์ รร.ไทยคริสเตียน สะพานเหลือง รร.ปราโมชวิทยา รามอินทรา รร.กอบวิทยา รร.สัจจพิทยา รร.อนุบาลบ้านครู รร.สมิทธิพงศ์ รร.ปิยะพงษ์วิทยา รร.วัฒนานนท์วิทยา รร.โสมาภานุสรณ์ รร.อัสสัมชัญแผนกประถม รร.บางกอกศึกษา รร.บางกอกวิทยา (มูลนิธิ) รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต รร.อัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี รร.อุทัยธรรมานุวัตรวิทยา อุทัยธานี บีคอนเฮ้าส์ แย้มสะอาด รังสิต ปทุมธานี ซีคอนเฮ้าส์ แย้มสะอาด หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ วัฒนดรุณวิทย์ ชลบุรี สุภวิทย์ สระแก้ว ขอนแก่นวิเทศศึกษา ขอนแก่น วานิชวิทยา นครราชสีมา รร.อนุบาลนวรัตน์ บึงกาฬ รร.เอื้ออำพัน ชุมพร รร.เจริญรัตนศึกษาสงขลา รร.สหศาสตร์วิทยาคาร รร.เชียงรายวิทยาคม รร.น่านคริสเตียนศึกษา รร.ปาณ์ทคุณา พะเยา รร.ปิยมิตรวิทยา พะเยา รร.เซนต์เมรี อุตรดิตถ์
อนึ่ง ทุกคนได้รับคู่มือสร้างทักษะเด็กดูดีมีพลานามัย จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยมหิดล เด็กไทยดูดี มีพลานามัย สสส. หนังสือการ์ตูนเด็กไทยดูดี ตอนไขความลับแห่งยานปริศนา และวีดิทัศน์ ขยับได้ดูดี โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย มี เพลงแฮ่กๆ วิ่ง วิ่ง วิ่ง กลิ้ง กลิ้ง กลิ้ง แค่เพียงขยับหน่อย ลุยเลยลูกพี่ ผมจะไม่ทำให้ผิดหวัง ศ.พญ.ชุติมา ศิริกลชยานนท์ ผู้สร้างสรรค์และแนวคิด
พฤติกรรมเด็กอ้วน ชอบกินขนมกรุบกรอบ อาหารทอด ไก่ทอด ไส้กรอก ทำให้มีไขมันพลังงานสูง น้ำอัดลม กินขนมขณะนั่งนอนดูโทรทัศน์ นั่งเล่นเกม กินไอศกรีมและเบเกอรี่ โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจากโรค 1.อ้วน เหนื่อยง่าย อุ้ยอ้าย 2.การเรียนรู้ลดลง 3.เบาหวาน 4.ความดันโลหิตสูง 5.หายใจลำบาก หยุดหายใจขณะหลับ 6.ข้ออักเสบ ปวดเข่า 7.ไข มันในเลือดสูง 8.โรคหัวใจ 9.โรคหลอดเลือดสมอง 10.มะเร็ง
พฤติกรรมเด็กหุ่นดี รับประทานอาหารเช้า กินผักและผลไม้ กล้วย มะละกอ ฝรั่ง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำงานบ้าน ดังนั้นใน 1 วัน นักเรียนควรทำกิจกรรม เรียนหนังสือ 8 ชั่วโมง นอนหลับพักผ่อน 9-10 ชั่วโมง (ทำให้สมองแจ่มใส ร่าเริง การเรียนดี ภูมิต้านทานโรคดี ไม่ป่วยง่าย ลดความเสี่ยงจากโรคอ้วน) แต่ถ้านอนหลับไม่เพียงพอ สมองไม่แจ่มใส การเรียนรู้ลดลง ภูมิต้านทานต่ำลง เจ็บป่วยได้ง่าย รู้สึกหิวมากกว่าปกติ เสี่ยงต่อโรคอ้วน ทำการบ้านทบทวนบทเรียน 1 ชั่วโมง ออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง เล่นเกมหรือดูทีวี 1-2 ชั่วโมง ทำเรื่องอื่น ๆ 3 ชั่วโมง
โรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในปี 2561 ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้บรรจุเป็นวาระแห่งโลกที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วน รู้หรือไม่ว่า โรคอ้วนในเด็กส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กตั้งแต่เหนื่อยง่าย การเรียนรู้ช้ากว่าเด็กปกติ โอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันสะสมในตับ นิ่วในถุงน้ำดี หอบ ภูมิแพ้ นอนกรน หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ปวดข้อเข่า ปัญหาทางสุขภาพจิตมีภาวะซึมเศร้าสูงกว่าเด็กปกติล้วนมีผลกระทบต่อการเรียนและคุณภาพชีวิตของเด็ก เด็กอ้วนมีโอกาสอ้วนในวัยผู้ใหญ่ด้วย
รายงานข่าวจาก สสส.พบว่า อัตราโรคอ้วนในหญิงไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 2 และชายไทยเป็นอันดับที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบใน 10 ประเทศอาเซียน เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารพลังงานสูงและขาดการออกกำลังกายและโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ดังกล่าว ตลอดจนหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาพยาบาล ทั้งของครอบครัวและประเทศ เพราะโรคอ้วนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต
ผลสำรวจ รร.เครือข่ายโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย 5 รร.สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กทม. ในปี 2559 พบปัญหาโรคอ้วนร้อยละ 21 สูงกว่าที่เคยสำรวจในปี 2547 ร้อยละ 19.3 ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และสร้างทักษะด้านอาหารและการออกกำลังกายในนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคหัวใจและหลอดเลือดของเด็กวัยเรียน ภาวะโภชนาการเกินในนักเรียนลดลงเหลือร้อยละ 16.4 ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงร้อยละ 70 ลดลงเป็นร้อยละ 60 ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงลดลงจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 11และระดับ LDL สูงลดลงจากร้อยละ 41 เหลือร้อยละ 33
การขยายผลสู่ รร.เอกชนซึ่งมีปัญหาโภชนาการเกินสูงกว่าภาครัฐ ระดับประถมเอกชนอ้วนร้อยละ 19.6 และมัธยมอ้วนร้อยละ 34.6 เกือบ 2 เท่าของประถม หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมอัตราอ้วนลดลงเหลือร้อยละ 16.2 และ 27 แต่ช่วงปิดเทอมขาดการกระตุ้น พฤติกรรมเสี่ยงด้านบริโภคก็กลับมาเหมือนเดิม ปีการศึกษา 2561 พบว่า รร.สังกัด สพฐ.อัตราอ้วนเพิ่มเป็น 16.8 และเอกชนประถมและมัธยมเพิ่มเป็นร้อยละ 19.4 และ 32 ต้องหาวิธีการแก้ไขในช่วงปิดเทอม
ดังนั้นควรจะมีการจัดอบรมครูผู้นำสุขภาพเพื่อเด็กไทยดูดี 4.0 ให้กับผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการดูแลแนะนำนักเรียน คือครูเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง และขาดการออกกำลังกาย และเกิดแรงบันดาลใจนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับจากการอบรมไปดูแลตนเอง ครอบครัวขยายผลสู่เพื่อนร่วมงาน ผู้ปกครอง นักเรียนทั้ง รร.ร่วมกันบริหารจัดการแบบบูรณาการด้านอาหาร การออกกำลังกายและสิ่งแวดล้อมของ รร.ให้เอื้อต่อสุขภาพ เกิดแหล่งเรียนรู้ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดีทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน