หลากมุมมองของขยะจากกระทง
ที่มา : มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดย ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการของผู้เขียน โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด
แฟ้มภาพ
รู้หรือไม่ว่าขยะจากการลอยกระทง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย และระหว่างที่มันยังไม่ย่อยสลายมันก็สามารถไปอุดตันท่อระบายน้ำ คูคลอง ตะแกรงดักขยะที่บ่อสูบน้ำ
มากกว่ายี่สิบปีมาแล้วที่ผม (ธงชัย พรรณสวัสดิ์) ได้อธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่ากระทงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และได้รณรงค์มาตลอดที่จะให้คนไทยงดหรือลดการลอยกระทง แต่เท่าที่ผ่านมา 20 กว่าปีนี้ ไม่มีข้อมูลบ่งชี้เลยว่าขยะกระทงจากวันลอยกระทงนี้ได้ลดลง และนับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เช่น ขยะกระทงใน กทม.ในปีพ.ศ.2559 มีทั้งหมด 617,901 ใบ แต่มาในปีพ.ศ.2560 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 811,945 ใบ (ข้อมูลทางการจาก กทม.) นั่นแสดงว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และผลเสียทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนหันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมหลายคนคาดหวัง
แล้วขยะกระทงมีผลเสียทางวิทยาศาสตร์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทบทวนให้ฟังหน่อยอีกสักครั้งได้ไหม คำอธิบายข้อแรกคือ ขยะกระทงสมัยก่อนมีสัดส่วนของฐานกระทงที่เป็นแผ่นโฟมอยู่มาก ซึ่งวัสดุโฟมนี้จะไม่ย่อยสลายได้ง่ายทางธรรมชาติ หากจะให้ย่อยได้จริงก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ระหว่างที่มันยังไม่ย่อยสลายมันก็สามารถไปอุดตันท่อระบายน้ำ คูคลอง ตะแกรงดักขยะที่บ่อสูบน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองที่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล นอกจากนี้โฟมก็อาจแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเข้าไปสู่วงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำป่วยและตาย รวมทั้งเมื่อคนเอาสัตว์น้ำเหล่านั้นมากิน สารพิษในโฟมก็จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และเป็นอันตรายต่อคนได้อีก
ปัจจุบันนี้ปัญหาขยะโฟมได้ลดลงไปมาก เพราะได้มีการอธิบายกันจนประชาชนเข้าใจ และเลิกซื้อรวมทั้งลอยกระทงโฟมกันเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลขยะกระทงของกทม.ที่บ่งว่ามีสัดส่วนของกระทงโฟมเหลือเพียง 6-7 เปอร์เซ็นต์ของขยะกระทงทั้งหมด แต่หากมองแบบวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแล้ว 6-7 เปอร์เซ็นต์นี้ก็ยังทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ ภาครัฐจึงต้องออกมาตรการมาเพื่อแก้ปัญหากระทงโฟมนี้กันอย่างต่อเนื่องและตลอดไปให้ได้
ข้อที่สองคือ เมื่อเราลดการใช้โฟมเป็นฐานกระทง ก็ได้มีการนำเอาต้นกล้วยมาเป็นฐานฯแทน ต้นกล้วยนี้แม้จะไม่เป็นพิษเท่าโฟม แต่ก็กีดขวางทางน้ำและการระบายน้ำได้เช่นกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้โดยเฉพาะในฤดูกาลลอยกระทงซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวได้อีกเช่นกัน รวมทั้งหากไม่มีการเก็บซากกระทงออกไปจากลำน้ำ กระทงฐานต้นกล้วยรวมทั้งใบตองและเศษพืชเศษดอกไม้อื่นๆก็จะจมลงสู่ก้นคลองก้นแม่น้ำ ทำให้น้ำเน่าได้ เพราะในขณะนั้นกระทงไม่ได้เป็นกระทงอีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็น“ขยะ”ไปแล้ว
ข้อที่สาม เมื่อมีปัญหาข้างต้น ก็มีผู้เสนอให้เอาขนมปังมาเป็นตัวกระทงโดยอ้างหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกครึ่งผิดครึ่ง คือ ถูกต้องตรงที่ขนมปังเป็นอาหารปลาได้ แต่ผิดตรงที่คลองนั้นอาจเน่าอยู่แล้วจนไม่มีปลาจะมากินขนมปังนั้นแล้ว ดังนั้นขนมปังนั้นก็จะจมลงและกลายเป็นขยะอีกชิ้น ส่วนในกรณีที่คลองนั้นยังสะอาดและแม้ยังมีปลาอยู่ แต่ทว่าการลอยกระทงนั้นจะลอยกันเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งไม่ใช่เวลาที่ปลาจะมากินขนมปัง จึงทำให้ขนมปังจมลงและกลายเป็นขยะที่ทำให้น้ำเน่าได้อีกเช่นกัน
ข้อที่สี่ ข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้มาและคนส่วนใหญ่ไม่รู้ (Cr.คุณ Vichit Montrichok) คือ พบว่าผู้ผลิตกระทงบางคนได้ใช้ตะปูตอกยึดใบตองกับต้นกล้วยฐานกระทงถึง 20 ตัวต่อหนึ่งกระทง ซึ่งพอเอามาชั่งพบว่าหนักถึง 10 กรัม และถ้าเอาตัวเลขขยะกระทงกทม.ประมาณ 8 แสนใบของปีล่าสุดคือปี 2560 มาลองคำนวณดูเล่นๆ โดยสมมุติว่ากระทงที่ใช้ตะปูกลัดมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของกระทงทั้งหมด จะได้เป็นกระทงแบบนี้ 800,000 x 0.2 = 160,000 ใบ ซึ่งเมื่อเอาไปคูณกับตัวเลข 10 กรัมต่อกระทงจะได้น้ำหนักตะปูสูงถึง 1.6 ล้านกรัม หรือ 1.6 ตันทีเดียว นั่นคือ หากสมมุติฐานนี้ถูก(ซึ่งอาจไม่ถูก) เราก็กำลังเอาเหล็กในรูปของตะปูทิ้งลงคลองสูงถึง 1.6 ตันในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน น่าตกใจนะ น่ากลัวด้วย
ย้อนกลับไปเรื่องที่พูดไว้ตอนแรกว่าทำไมขยะกระทงไม่ลดลงเลยแม้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม นักสิ่งแวดล้อมบางคนถึงกับอ้างว่าประเพณีลอยกระทงนี้ไม่ใช่ประเพณีโบราณแต่เดิมและเพิ่งจะมาเริ่มแค่ไม่กี่ร้อยปีมานี้ จึงควรยกเลิกประเพณีนี้เสียเพื่อขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษประจำเทศกาลให้หมดสิ้นเบ็ดเสร็จไปในคราวเดียวกัน แต่โลกไม่ได้มีเฉพาะแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ โลกยังมีแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์และสังคมควบคู่กันไปด้วยกันอย่างแยกไม่ออก และในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้เองที่มีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจทั้งระดับชาวบ้านท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาตินับพันนับหมื่นล้านบาท ซึ่งก็เป็นผลดีต่อประเทศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงเวลาอย่างนี้ผู้คนจะออกไปเที่ยวเตร่หาความบันเทิงด้วยราคาที่จ่ายได้ รวมทั้งบางคนอาจจะไม่ได้ก่อมลพิษโดยไม่ได้ลอยกระทงเลยด้วย ซึ่งกิจกรรมเชิงประเพณีนี้เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสุขให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆได้อย่างง่ายๆได้ และเชื่อหรือไม่ว่าประเพณีแบบนี้แหละที่ปลูกฝังให้เกิดความรักชาติแก่เยาวชน(บางคน)ได้
นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดปริมาณขยะกระทงจึงมิได้ลดลง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี และการมองปัญหาจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้อง และไม่ใช่การมองโลกในรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนอันประกอบไปด้วยการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันและพร้อมๆกัน
สิ่งที่ภาครัฐควรทำต่อไปเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการลอยกระทงประจำปี คือ 1) กทม.และเทศบาลต่างๆต้องคิดค้นพัฒนาวิธีการที่จะบอกให้ได้อย่างถูกต้องว่าขยะกระทงที่เก็บมาได้นั้นเก็บได้จริงๆกี่เปอร์เซ็นต์ของกระทงที่ลอย และยังมีหลงเหลือที่เก็บไม่ได้รวมทั้งปล่อยให้เป็นภาระของสิ่งแวดล้อมที่ต้องแบกรับอยู่อีกกี่เปอร์เซ็นต์ (หมายเหตุ: ตัวเลขนี้ยังไม่เคยมีมาเลยในประเทศไทย) 2) ออกเป็นกฎหมายในระดับปฏิบัติ เช่น กฎกระทรวงหรือเทศบัญญัติ ห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายจ่ายแจก และห้ามซื้อขายกระทงที่มีโฟมเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดปัญหากระทงโฟมที่ยังมีสัดส่วนอยู่อีก 6-7 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันให้สิ้นไป 3) กระทงขนมปังสามารถเน่าได้เร็วกว่ากระทงใบตองและดอกไม้ ผลกระทบของกระทงขนมปังจึงมีมากกว่ากระทงใบตอง รัฐจึงควรออกกฎห้ามกระทงขนมปังเช่นเดียวกับกระทงโฟม
เมื่อมาถึงจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะกระทงในวันลอยกระทงนี้ ไม่สามารถจัดการได้โดยใช้มาตรการทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ทางสังคม เศรษฐกิจ และนิติศาสตร์มาบูรณาการและใช้งานร่วมกันไปพร้อมๆ กัน